บทความสุขภาพ-ความงาม : เด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี เสียชีวิตจากจมน้ำสูงสุดเฉลี่ยปีละ 200 คน
นายแพทย์อำนวย กล่าวว่า จากรายงานองค์การอนามัยโลกพบว่า ในทุกๆปีมีเด็กทั่วโลก (อายุต่ำกว่า 15 ปี) เสียชีวิตจากการจมน้ำ 140,219 คน โดยเสียชีวิตเป็นอันดับ 3 รองจากโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบและเอดส์ สำหรับสถานการณ์ของประเทศไทยพบว่าการจมน้ำเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 ของเด็กไทยอายุต่ำกว่า 15 ปี ซึ่งมีจำนวนการเสียชีวิตสูงมากกว่าโรคติดต่อนำโดยแมลงและไข้เลือดออกถึง 14 เท่าตัว จากข้อมูลของสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ กระทรวงสาธารณสุข พบว่าทุกๆ 8 ชั่วโมง จะมีเด็กจมน้ำเสียชีวิต 1 คน โดยเฉลี่ยทุกๆ 1 เดือนประเทศไทยสูญเสียเด็กจากการจมน้ำเสียชีวิตมากกว่า 90 คน ซึ่งในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา (ปี 2549-2558) ประเทศไทยสูญเสียเด็กไปแล้วถึง 10,923 คน
นอกจากนี้ สำนักโรคไม่ติดต่อ กรมควบคุมโรค ได้ทำการวิเคราะห์ข้อมูลความเสี่ยงของการเสียชีวิตจากจมน้ำ พบว่าในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (ปี 2554 – 2558) กลุ่มเด็กอายุต่ำกว่า 3 ปี พบจมน้ำเสียชีวิตสูงเฉลี่ยถึงปีละ 192 คน คิดเป็นร้อยละ 21 ของกลุ่มเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปีทั้งหมด ส่วนภาชนะที่มักพบว่าเด็กกลุ่มนี้จมน้ำบ่อย ได้แก่ ถังน้ำ ถังสี กะละมัง กระติกน้ำ โอ่ง และอ่างอาบน้ำในห้องน้ำ ภายในบ้านและในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก หรือแม้แต่สระว่ายน้ำภายในบ้านของตนเอง ซึ่งพบว่าเด็กเล็กมักจะจมน้ำในภาชนะที่มีน้ำเล็กน้อยประมาณ 1-2 นิ้วเท่านั้น สาเหตุมักเกิดจากผู้ดูแลเด็กทำกิจกรรมบางอย่างเพียงระยะเวลาสั้นๆ เช่น เข้าห้องน้ำ ทำกับข้าว คุยโทรศัพท์ เปิด-ปิดประตูบ้าน เพียงระยะเวลาไม่กี่นาที ประกอบกับขาดการจัดการแหล่งน้ำเสี่ยงในบ้าน ซึ่งไม่คิดว่าแหล่งน้ำดังกล่าวจะเป็นอันตรายเพราะมีระดับน้ำเพียงเล็กน้อย โดยกลุ่มเด็กเล็ก มักเดินตามเป็ดหรือสุนัข และพลัดตกลงไปในน้ำในบ่อน้ำ รอบๆบ้านได้
โดยเฉพาะช่วงนี้เป็นช่วงปิดเทอมผู้ปกครองส่วนใหญ่จะให้พี่ดูแลน้องหรือผู้สูงอายุดูแลเด็ก จากข้อมูลย้อนหลังในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา พบว่าในช่วงปิดเทอมภาคฤดูร้อน (มีนาคม – พฤษภาคม) เป็นช่วงที่มีเด็กจมน้ำเสียชีวิตสูงสุด ในบางปีมีจำนวนสูงเกือบ 400 คน ส่วนเดือนที่จมน้ำเสียชีวิตสูงที่สุดคือเมษายน เฉลี่ย 134 คน โดยช่วงปิดเทอมภาคฤดูร้อนในปี 2558 ที่ผ่านมา มีข้อมูลผู้เสียชีวิตจากการจมน้ำ 250 คน จึงขอให้ผู้ปกครองและผู้ดูแลเด็กให้ความระมัดระวังและร่วมมือกันป้องกันไม่ให้เด็กเสียชีวิตจากการจมน้ำ
นายแพทย์อำนวย กล่าวต่อไปว่า กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมควบคุมโรค ร่วมกับภาคีเครือข่ายได้ดำเนินงานป้องกันการจมน้ำมาอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้การเสียชีวิตจากการจมน้ำของเด็กลดลงครึ่งหนึ่ง โดยก่อนปี 2550 มีจำนวนผู้เสียชีวิต 1,500 คนต่อปี และปี 2558 ลดลงเหลือ 701 คน อย่างไรก็ตาม การจมน้ำเป็นสิ่งที่สามารถป้องกันได้ เด็กไทยจึงไม่ควรเสียชีวิตก่อนวัยอันควร ดังนั้น กรมควบคุมโรค จึงได้ตั้งเป้าหมายไว้ว่า ภายในปี 2565 “เด็กจมน้ำเสียชีวิตต้องเท่ากับศูนย์” โดยได้กำหนดกลยุทธ์ “ทีมผู้ก่อการดี” ดำเนินงานแบบสหสาขา ครอบคลุมทุกมาตรการ และใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ในพื้นที่ เพื่อกระตุ้นให้ทุกภาคส่วนเกิดการตื่นตัว และร่วมกันปกป้องคุ้มครองสิทธิเด็กไทย ไม่เฉพาะช่วงปิดเทอม แต่ต้องดำเนินงานตลอดทั้งปี โดยปีที่ผ่านมามีทีมผู้ก่อการดีทั้งสิ้น 335 ทีม
สำหรับมาตรการป้องกันการจมน้ำ เน้นใน 2 กลุ่มสำคัญ ได้แก่
1.มาตรการป้องกันการจมน้ำในเด็กเล็ก (อายุต่ำกว่า 5 ปี) คือ“เทน้ำ กั้นคอก ปิดฝา เฝ้าดูตลอดเวลา” ดังนี้ เทน้ำทิ้งหลังใช้งาน ฝัง/กลบหลุมหรือร่องน้ำที่ไม่ได้ใช้งาน, กั้นคอก จัดให้มีสถานที่เล่นที่ปลอดภัยสำหรับเด็กซึ่งห่างไกลจากแหล่งน้ำ โดยมีลักษณะแบบคอกกั้นเด็ก มีรั้วล้อมรอบทั้ง 4 ด้าน ในทุกครัวเรือนที่มีเด็กอายุต่ำกว่า 2 ปีควรใช้คอกกั้นเด็ก เพราะนอกจากจะช่วยป้องกันเด็กเล็กจมน้ำแล้ว ยังช่วยป้องกันการบาดเจ็บจากสาเหตุอื่นๆ เช่น รถทับ ไฟฟ้าช็อต พลัดตกหกล้ม โดยเฉพาะเมื่อผู้ปกครองทำกิจกรรมอื่นๆชั่วคราว ซึ่งคอกกั้นเด็กสามารถทำได้เองง่าย เช่น ไม้ไผ่ ท่อพีวีซี เป็นต้น, ปิดฝาภาชนะใส่น้ำ กะละมัง โอ่งน้ำ ตุ่มน้ำ, เฝ้าดูตลอดเวลาไม่ปล่อยให้เด็กอยู่ตามลำพังแม้เพียงชั่วขณะ ที่สำคัญเปลี่ยนความคิดว่าคอกกั้นเด็กคือที่ขังเด็ก เพราะเราไม่ได้นำเด็กไว้บริเวณพื้นที่ดังกล่าวตลอดเวลา เพียงแค่ไม่กี่นาทีที่เราติดภารกิจ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นเสี้ยวนาทีชีวิตของลูกหลาน
2.มาตรการป้องกันการจมน้ำในเด็กโต (อายุมากกว่า 5 ปี) คือ“ลอยตัว ชูชีพ ช่วยเหลือ ปฐมพยาบาล” ดังนี้ ลอยตัว สอนให้เด็กรู้วิธีการเอาชีวิตรอดในน้ำเมื่อตกน้ำ โดยการลอยตัวเปล่าหรือลอยตัวโดยใช้อุปกรณ์ช่วย, ชูชีพ สอนให้ประชาชนและเด็กรู้จักกฎความปลอดภัยทางน้ำ เช่น ไม่ปล่อยให้เด็กอยู่ใกล้แหล่งน้ำตามลำพัง ไม่ว่ายน้ำคนเดียว ไม่แกล้งจมน้ำ ไม่ดื่มสุรา รวมถึงการใช้ชูชีพทุกครั้งที่เดินทางทางน้ำ, ช่วยเหลือ สอนให้เด็กรู้จักวิธีการช่วยเหลือที่ถูกต้อง โดยการ “ตะโกน โยน ยื่น” (ตะโกน : เรียกให้ผู้ใหญ่มาช่วย และโทร 1669, โยน : อุปกรณ์เพื่อช่วยเหลือคนตกน้ำ เช่น ขวดน้ำพลาสติก ห่วงชูชีพ อุปกรณ์ที่ผูกเชือก, ยื่น : ไม้ เสื้อ กางเกง เข็มขัด เพื่อช่วยเหลือคนตกน้ำ), ปฐมพยาบาล สอนและฝึกปฏิบัติให้ประชาชนและเด็กรู้วิธีการปฐมพยาบาลคนจมน้ำที่ถูกต้อง โดยห้ามจับเด็กอุ้มพาดบ่า แล้วกระแทกเพื่อเอาน้ำออก
นายแพทย์อำนวย กล่าวอีกว่า จากการสำรวจพฤติกรรมการใช้เสื้อชูชีพของสำนักโรคไม่ติดต่อ กรมควบคุมโรค พบว่า ประชาชนทุกกลุ่มอายุใช้เสื้อชูชีพ ขณะเดินทางหรือทำกิจกรรมทางน้ำ ร้อยละ 15.7 ซึ่งมีการใส่ถูกต้องเพียงร้อยละ 4.2 ส่วนเด็กมีการใช้เสื้อชูชีพ ขณะเดินทางหรือทำกิจกรรมทางน้ำ ร้อยละ 18.0 ซึ่งใส่ถูกต้องเพียงร้อยละ 6.0 ผลการสำรวจพบว่าประชาชนยังมีความเข้าใจไม่ถูกต้องเกี่ยวกับการใช้ชูชีพ นั่นคือ ชูชีพที่ทุกคนเห็นทั่วไปตามเรือคือ เสื้อพยุงตัว ซึ่งออกแบบมาให้ใส่สบาย และเคลื่อนไหวได้คล่องตัว แต่จะไม่ช่วยพลิกตัวผู้สวมใส่ให้หน้าหงายขึ้นเหนือน้ำ ดังนั้นเวลาใช้จึงต้องตีขาช่วย และหากคนที่ใส่ หมดสติ ก็จมน้ำเสียชีวิตได้ ส่วนเสื้อชูชีพจะถูกออกแบบให้พลิกตัวผู้ประสบภัยให้หงายหน้าขึ้นเหนือน้ำ ทำให้คนที่หมดสติไม่จมน้ำ แต่จะเทอะทะ และทำให้เคลื่อนไหวลำบาก
ขอขอบคุณข้อมูลและรูปภาพ : สำนักโรคไม่ติดต่อ / สำนักสื่อสารความเสี่ยงฯ กรมควบคุมโรค, thaihealth