ข่าวไอที : หัวเว่ย เปิดตัวชิปเซตใหม่ ‘คุนเผิง 920’ เร็วที่สุดในบรรดา CPU แบบ ARM

หัวเว่ย เปิดตัวชิปเซตใหม่ ‘คุนเผิง 920’ เร็วที่สุดในบรรดา CPU แบบ ARM

Huawei says new chipset is industry’s fastest Arm-based CPU
By Asia Times staff 
08/01/2019

       หัวเว่ยประกาศเปิดตัว “คุนเผิง 920” ชิปเซตตัวใหม่ซึ่งเร็วที่สุดใน CPU แบบ ARM นับเป็นหนึ่งในก้าวเดินไปสู่การพึ่งตนเองทางด้านเซมิคอนดักเตอร์ของจีน เรื่องนี้บังเกิดขึ้นขณะคณะบริหารทรัมป์อวดอ้างว่าพวกเขามีไพ่ต่อรองเหนือกว่าในสงครามเทค

       เมื่อรัฐมนตรีพาณิชย์สหรัฐฯ วิลเบอร์ รอสส์ ถูกถามในวันจันทร์ (7 ม.ค.) ถึงสภาพของการเจรจาทางการค้าระหว่างสหรัฐฯกับจีน เขาก็ตอบด้วยท่าทีมองโลกในแง่ดีอย่างชัดเจนว่ามีความเป็นไปได้ที่ทั้งสองฝ่ายจะทำข้อตกลงกัน

       เขายังแสดงความมั่นอกมั่นใจมากว่า สหรัฐฯ อยู่ในฐานะอันเข้มแข็งในการเจรจาต่อรอง ส่วนหนึ่งเนื่องจาก “เวลานี้จีนเข้าอกเข้าใจแล้วว่าพวกเขาต้องพึ่งพาอาศัยเราขนาดไหน (ในเรื่องสินค้าไฮเทค)”

       ความคิดเห็นเช่นนี้ซึ่งแสดงออกมาระหว่างการให้สัมภาษณ์ทางซีเอ็นบีซี เป็นการอ้างอิงพาดพิงถึงกรณีที่สหรัฐฯสั่งห้ามขายพวกชิปให้แก่ แซดทีอี ผู้ผลิตสมาร์ตโฟนและอุปกรณ์สื่อสารสัญชาติจีน แต่นี่อาจจะกลายเป็นการส่อแสดงถึงความมั่นอกมั่นใจอย่างเกินเลยไปสักหน่อยก็เป็นได้

       บริษัทชาติเดียวกันกับแซดอีทีอีกรายหนึ่งที่มีฐานะเป็นยักษ์ใหญ่เทเลคอมระดับแชมเปี้ยนแห่งชาติของจีน ซึ่งคือ หัวเว่ย เมื่อวันจันทร์ (7 ม.ค.) เพิ่งเปิดตัวชิปเซต (chipset) ใหม่ ที่หัวเว่ยระบุว่าทำให้บริษัทยืนอยู่ตรงแถวหน้าของอุตสาหกรรมนี้

        คำแถลงของหัวเว่ยกล่าวว่า ชิปเชต ตัวใหม่นี้ คือ “CPU แบบ Advanced RISC Machine (ARM) ที่มีสมรรถภาพสูงที่สุดของอุตสาหกรรมนี้ CPU ใหม่นี้ ซึ่งมีชื่อว่า “คุนเผิง 920” (Kunpeng 920) ถูกออกแบบมาเพื่อส่งเสริมเพิ่มพูนการพัฒนาทางการคำนวณในด้าน big data, distributed storage, และ ARM-native application scenarios”

        หัวเว่ยอธิบายว่า คุนเผิง 920 ออกแบบมาสำหรับใช้ในเครื่องเซิร์ฟเวอร์ที่บริหารจัดการข้อมูลซึ่งหลั่งไหลจากพวกสมาร์ตโฟน, วิดีโอ และบริการเครือข่ายอื่นๆ อันเป็นเซกเตอร์ซึ่งกำลังเติบโตอย่างรวดเร็วจากการพัฒนาทางด้านปัญญาประดิษฐ์ (artificial intelligence หรือ AI) และ “อินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่ง” (internet of things) โดยชิปเซตนี้จะเป็นส่วนหนึ่งของสายผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่วางแผนเอาไว้เพื่อสนับสนุน “intelligent computing”

        การพัฒนาชิปเซตใหม่ตัวนี้ได้สำเร็จ เป็นการอาศัยความก้าวหน้าอื่นๆ ที่หัวเว่ยได้ทำมาก่อนหน้านี้ รวมทั้ง ชิป คิริน 980 (Kirin 980 chip) ซึ่งเปิดตัวไปเมื่อเดือนสิงหาคมปีที่แล้ว เพื่อใช้ในเครื่องโทรศัพท์สมาร์ตโฟนของบริษัท

        ปักกิ่งมีมุมมองมานานแล้วว่า ความสามารถในการแข่งขันในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ คือเรื่องสำคัญลำดับต้นๆ เรื่องหนึ่ง และก็เป็นข้อหนึ่งที่ถูกบรรจุเอาไว้ในแผนการ “เมดอินไชน่า 2025” (Made in China 2025) ของจีน แต่นักวิเคราะห์จำนวนมากทีเดียวมองว่า คำสั่งห้ามขายชิปให้แก่แซดทีอี กำลังกลายเป็นเครื่องกระตุ้นอย่างแรงให้แดนมังกรยิ่งเร่งพลังขับดันเพื่อไปสู่การพึ่งพาตนเองให้ได้

       “แซดทีอีเป็นสัญญาณปลุกให้ตื่นครั้งที่ใหญ่มากสำหรับจีน” รอสส์กล่าว พร้อมกับชี้ว่านักวิเคราะห์จำนวนมากมองคำสั่งห้ามของสหรัฐฯดังกล่าวว่า เท่ากับเป็นคำพิพากษาประหารชีวิตยักษ์ใหญ่เทเลคอมของจีนรายนั้นทีเดียว

     รอสส์อาจจะเข้าใจถูกต้องแล้วว่า กรณีแซดทีอีเป็นการตีระฆังเตือนภัยดังสนั่นในปักกิ่ง ทว่าวันเวลาที่พวกบริษัทจีนต้องพึ่งพาอาศัยซัปพลายต่างๆ ของสหรัฐฯ นั้นกำลังลดน้อยลงเรื่อยๆ

      ชิปคุนเผิง จะนำมาใช้ในการต่อเชื่อมกับเซิร์ฟเวอร์ “ไท่ซาน” (TaiShan server) ของหัวเว่ย เพื่อให้บริการ cloud services

      “วันนี้ ด้วยการมี คุนเผิง 920 เราก็กำลังก้าวเข้าสู่ยุคของ diversified computing ซึ่งเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมาโดย multiple cores และ heterogeneity” วิลเลียม สีว์ (William Xu) ซีอีโอของหัวเว่ย กล่าวในการประกาศเปิดตัวชิปเซตนี้เมื่อวันจันทร์ (7 ม.ค.)

ขอขอบคุณข้อมูล-ภาพ จาก MGR Online