ข่าวตาก : พบหญิงเสียชีวิตจากโรคพิษสุนัขบ้า ถูกกัดที่สุราษฎร์มาตายที่ตาก
กรมควบคุมโรค พบผู้เสียชีวิตจากโรคพิษสุนัขบ้าอีก 1 ราย เป็นหญิงอายุ 50 ปี ถูกกัดที่สุราษฎร์ธานี ตายที่ตาก เหตุไม่ฉีดวัคซีนป้องกัน ส่งผลยอดตายรวมเป็น 16 ราย
วันนี้ (5 ก.ย.) นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กล่าวว่า ขณะนี้ได้รับรายงานมีผู้เสียชีวิตจากโรคพิษสุนัขบ้าเพิ่มอีก 1 ราย เป็นเพศหญิง อายุ 50 ปี เสียชีวิตที่ จ.ตาก โดยมีประวัติถูกสุนัขกัดบริเวณหลังมือขวา เมื่อประมาณ 1 ปี ที่ จ.สุราษฎร์ธานี ซึ่งหลังจากถูกกัดไม่ได้ฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า และไม่ทราบประวัติการฉีดวัคซีนของสุนัข ส่งผลให้ล่าสุด จำนวนผู้เสียชีวิตจากโรคพิษสุนัขบ้าในปี 2561 รวมเป็น 16 ราย จากบุรีรัมย์และระยอง จังหวัดละ 2 ราย สุรินทร์ สงขลา ตรัง นครราชสีมา ประจวบคีรีขันธ์ พัทลุง หนองคาย ยโสธร กาฬสินธุ์ มุกดาหาร ตาก และสุราษฎร์ธานี จังหวัดละ 1 ราย
นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่า จากรายงานการสอบสวนโรคผู้เสียชีวิตจากโรคพิษสุนัขบ้าในปี 2561 พบว่า มีการรับเชื้อจากสุนัข 15 ราย (ร้อยละ 93.7) จากแมว 1 ราย (ร้อยละ 6.3) เป็นสัตว์มีเจ้าของ ร้อยละ 62.5 และไม่มีเจ้าของ ร้อยละ 37.5 นอกจากนี้ ยังพบว่า ภายหลังจากสัมผัสแล้วไม่ได้ล้างแผลและไม่ได้รับการรักษาถึง 14 ราย ล้างแผลที่บ้านแต่ไม่ได้ไปสถานพยาบาล 1 ราย และอีก 1 ราย ไปรับบริการที่สถานรักษาพยาบาลแต่ไม่ฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า
“หากถูกสุนัข แมวกัด ข่วน หรือเลียบาดแผล แม้เพียงเล็กน้อย อย่าชะล่าใจ ควรรีบล้างแผลด้วยน้ำและสบู่ทันทีหลายๆ ครั้ง นานประมาณ 10 นาที และใส่ยาเบตาดีน เพื่อลดการติดเชื้อโรคพิษสุนัขบ้า จากนั้นรีบไปพบแพทย์ทันที เพื่อวินิจฉัยและรับวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า หากฉีดวัคซีนแล้วควรไปตามนัดทุกครั้ง นอกจากนี้ ควรสังเกตสุนัขว่ามีอาการผิดปกติหรือตายใน 10 วันหรือไม่ ภายหลังสุนัขตัวนั้นไปกัดข่วนคน ต้องรีบไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ทั้งนี้ ขอให้ยึดหลัก 5 ย. ได้แก่ 1.อย่าเหยียบสัตว์ 2.อย่าแยกสัตว์ที่กำลังกัดกัน 3.อย่าแหย่สัตว์ 4.อย่าหยิบอาหารขณะสัตว์กำลังกิน และ 5.อย่ายุ่งกับสัตว์ที่ไม่รู้จักคุ้นเคย” นพ.สุวรรณชัย กล่าวและว่า หากเคยถูกสัตว์เลี้ยงกัดหรือข่วนนานแล้ว แม้ว่ารอยแผลจะเพียงเล็กน้อยก็ตาม แล้วไม่ได้ไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ขอให้ไปปรึกษาแพทย์โดยเร็ว เพื่อรับการวินิจฉัย เนื่องจากระยะฟักตัวของโรค ตั้งแต่ได้รับเชื้อจนมีอาการป่วยอาจสั้นมากตั้งแต่ 1 สัปดาห์หรือนานถึง 1 ปีได้
ขอขอบคุณข้อมูล-ภาพ จาก MGR Online