ข่าวทั่วไป  :  ต่างด้าวโวยกระพือค่าแรง 300 ชี้ NGO อยู่เบื้องหลัง

         โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผย รัฐบาลมอบหมายให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน และ ศปมผ. แก้ไขปัญหาพนักงานชาวพม่าประท้วงโรงงานผลิตปลากระป๋องส่งออก เรื่องค่าจ้างแรงงานและสวัสดิการ ปูดเอ็นจีโอบางกลุ่มกระพือให้สังคมโลกเข้าใจผิด ย้ำทุกชาติต้องได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายแรงงาน ด้านเอ็นจีโอโต้แค่เรื่องมีมานานแล้ว แต่มีผลกระทบจากขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำยุคยิ่งลักษณ์

         วันนี้ (26 ก.พ.) พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาลได้รับรายงานว่ามีพนักงานจำนวนหนึ่งของบริษัท โกลเด้นไพร้ซ์ แคนนิง จำกัด ซึ่งเป็นตั้งอยู่ที่มหาชัย จ.สมุทรสาคร นัดหยุดงานเพื่อเรียกร้องเรื่องค่าจ้างแรงงานและสวัสดิการในการทำงาน โดยโรงงานแห่งนี้มีแรงงานประมาณ 1,700 คน ทั้งแรงงานชาวไทย และแรงงานต่างด้าว ที่เดินทางเข้ามาทำงานในประเทศไทย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นแรงงานจากประเทศพม่า

         ทั้งนี้ รัฐบาลได้มอบหมายให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน และศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมาย (ศปมผ.) เข้าไปแก้ไขปัญหาร่วมกับเครือข่ายเพื่อสิทธิแรงงานข้ามชาติ ตัวแทนนายจ้าง และผู้แทนสมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป เพื่อให้ปัญหายุติโดยเร็วที่สุด รวมทั้งรับคำร้องจากลูกจ้างจำนวน 213 คน และติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดต่อไป เพื่อให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย โดยข้อมูลเบื้องต้นทราบว่าเป็นข้อขัดแย้งระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง เรื่องค่าจ้างและสวัสดิการ ซึ่งเกิดขึ้นได้ทั่วไป แต่กรณีนี้อาจอ่อนไหวเป็นพิเศษ เนื่องจากมีแรงงานต่างด้าวร่วมอยู่ด้วย

         พร้อมกันนี้ ยังได้รับรายงานว่า มีกลุ่มองค์กรพัฒนาเอกชน (เอ็นจีโอ) บางกลุ่มกำลังเคลื่อนไหวในพื้นที่ เพื่อพยายามสร้างกระแสให้เรื่องร้ายแรงเกินเลยกว่าความเป็นจริง โดยอาศัยจังหวะที่ผู้ร่วมนัดหยุดงานอาจจะมีแรงงานต่างด้าวด้วย แล้วบิดเบือนให้สังคมโลกเข้าใจประเทศไทยผิด ๆ ผ่านสื่อต่างประเทศ จึงอยากฝากเตือนไปยังกลุ่มเหล่านี้ว่าขอให้ยุติการกระทำเสีย โดยหากมีความต้องการช่วยเหลือแรงงานอย่างแท้จริง ควรให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์แก่เจ้าหน้าที่รัฐ เพื่อร่วมมือกันแก้ปัญหาและสร้างทางออกร่วมกัน

         “รัฐบาลมีนโยบายและจุดยืนชัดเจนว่าแรงงานทุกคนบนแผ่นดินไทยไม่ว่าเชื้อชาติใดก็ต้องได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายแรงงานที่มีอยู่ ขณะเดียวกัน หากทุกอย่างดำเนินไปตามระเบียบกฎหมายแล้ว แต่ลูกจ้างยังไม่พอใจค่าจ้างแรงงานหรือสวัสดิการที่ได้รับ ย่อมเป็นสิทธิโดยอิสระที่จะลาออก ย้ายงาน และนายจ้างจะกีดกันหรือเหนี่ยวรั้งไม่ได้” พล.ต.สรรเสริญ กล่าว

         ด้านเว็บไซต์เฟซบุ๊กบีบีซี ไทย รายงานว่า น.ส. สุธาสินี แก้วเหล็กไหล เจ้าหน้าที่เครือข่ายเพื่อสิทธิแรงงานข้ามชาติ ซึ่งทำงานในพื้นที่ดังกล่าวในด้านการให้ความรู้เกี่ยวกับสิทธิของแรงงานว่า ข้อสังเกตของโฆษกรัฐบาลที่บอกว่าเอ็นจีโอส่วนหนึ่งพยายามที่จะสร้างกระแสให้เรื่องใหญ่โตนั้นไม่เป็นความจริง แต่เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ยาวนานมากเนื่องจากคนงานไม่ได้รับค่าจ้างขั้นต่ำ ตั้งแต่มีการประกาศค่าจ้างขั้นต่ำในปี 2555 (บังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2555 ยุครัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี) เป็นต้นมา รวมทั้งไม่ได้รับโอที ไม่มีการนำเข้าระบบประกันสังคม ไม่มีวันหยุดพักร้อนและวันหยุดตามประเพณี และกรณีที่เจ็บป่วยแม้จะมีใบรับรองแพทย์มายืนยันก็ยังถูกหักเงินเดือนออกไปโดยถือว่าลูกจ้างหยุดงาน

         ในช่วงแรกนั้นองค์กร MWRN ได้จัดอบรมทำงานให้คนงานได้รู้สิทธิและเจรจาได้ และได้ทำหน้าที่เจรจาให้กับฝ่ายลูกจ้างมาหลายครั้งแต่ไม่สำเร็จ ลูกจ้างจึงขอเจรจาด้วยตนเอง ขณะที่ฝ่ายนายจ้างก็ยืนยันว่าตนปฏิบัติตามกฎหมายถูกต้อง จนกระทั่งไม่สามารถตกลงกันได้ และนำมาสู่การยื่นคำร้องต่อกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จ.สมุทรสาคร ดังที่เป็นข่าวไปวานนี้

         สำหรับบรรยากาศในโรงงาน วานนี้ หลังมีข่าวว่าลูกจ้างจะนัดหยุดงาน มีการติดป้ายประกาศเป็นภาษาเมียนมาว่าหากลูกจ้างคนใดหยุดงานโดยไม่ได้รับความเห็นชอบจากนายจ้างจะถูกไล่ออก แต่เช้านี้ ป้ายดังกล่าวถูกถอดออกไปแล้ว

 

ขอขอบคุณข้อมูล  :  Manager.co.th

ขอขอบคุณรูปภาพ  :  บีบีซีไทย