บทความสุขภาพ-ความงาม : วิธีการช่วยลดกลิ่นเต่า กลิ่นตัว ไม่ให้รุนแรง
ทุกคนล้วนมีกลิ่นตัวด้วยกันทั้งนั้น บางคนมีเพียงกลิ่นอ่อนๆ พอเป็นเสน่ห์ดึงดูดใจ แต่บางคนกลับมีกลิ่นตัวแรงจนคนรอบข้างต้องเบือนหน้าหนี คนที่มีกลิ่นตัวแรงมักไม่ค่อยรู้ตัว เพราะคุ้นเคยกับกลิ่นของตัวเอง กลิ่นอันไม่พึงประสงค์เกิดขึ้นได้อย่างไร และจะมีวิธีป้องกันและขจัดกลิ่นตัวได้อย่างไร
สาเหตุของการเกิดกลิ่นตัว
กลิ่นตัวในแต่ละจุดของร่างกายจะแตกต่างกันไป เช่น กลิ่นตามข้อพับ กลิ่นเท้า กลิ่นบนหนังศีรษะ หรือกลิ่นบริเวณอวัยวะเพศ แต่กลิ่นตัวที่หลายคนเรียกว่า กลิ่นเต่าเจ้าปัญหา คือกลิ่นตัวบริเวณรักแร้ ซึ่งเกิดจากการย่อยสลายสารที่หลั่งออกมาจากต่อมเหงื่อ
ปกติร่างกายของคนเราจะมีต่อมเหงื่ออยู่ 2 ชนิด ชนิดแรกเป็นต่อมเหงื่อที่มีอยู่ตามผิวหนังทั่วตัว อีกชนิดหนึ่งเป็นต่อมเหงื่อที่มีอยู่เฉพาะบางแห่งของร่างกาย เช่น รักแร้ บางส่วนของอวัยวะเพศ เป็นต้น เหงื่อที่ถูกขับออกมาจากต่อมเหงื่อชนิดนี้ เมื่อหมักหมมไว้จะถูกย่อยโดยแบคทีเรีย และทำให้เกิดกลิ่นตัวขึ้น ซึ่งแต่ละคนก็จะมีกลิ่นเฉพาะตัว
ปัจจัยที่ส่งเสริมให้เกิดกลิ่นตัว
– สภาพอากาศที่ร้อนชื้นประกอบกับสุขอนามัยที่ไม่ดีพอ จะทำให้แบคทีเรียบนผิวหนังเจริญได้ดีและมีจำนวนมาก ทำให้กลิ่นตัวยิ่งแรงขึ้น
– การสวมใส่เสื้อผ้าหนาๆ หรือตัดเย็บด้วยผ้าที่ระบายเหงื่อได้ไม่ดีพอ เช่น ผ้าใยสังเคราะห์ จะทำให้ผิวหนังมีความอับชื้น ปริมาณแบคทีเรียบนผิวหนังจึงเพิ่มขึ้นและเกิดกลิ่นตัวได้ง่ายขึ้น
– อาหารบางชนิด เช่น กระเทียม หัวหอม เครื่องเทศ ฯลฯ ก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดกลิ่นตัว เพราะสารที่มีกลิ่นในอาหารเหล่านี้จะถูกขับออกมาทางเหงื่อ
– เมื่อมีอารมณ์เครียด โกรธ ตกใจ ร่างกายจะกระตุ้นให้ต่อมเหงื่อบริเวณรักแร้ หน้าผาก และฝ่ามือ มีเหงื่อออกมากขึ้น และทำให้เกิดกลิ่นตัวขึ้นได้
การรักษาความสะอาด
– อาบน้ำอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง หากเหงื่อออกมากก็อาบได้บ่อยๆ และสระผมให้สะอาดเป็นประจำ
– ชำระล้างร่างกายให้สะอาดด้วยสบู่ที่ผสมยาฆ่าเชื้อโรค
– ทาแป้งฝุ่นบริเวณข้อพับที่อับชื้น เพื่อช่วยให้ผิวแห้ง ลดความอับชื้นลง
– พยายามให้เหงื่อออกน้อยที่สุด เช่น อยู่ในที่เย็น ระบายอากาศได้ดี ใช้พัดลมหรือเครื่องปรับอากาศ
– หลังทำงานกลางแจ้งหรือเล่นกีฬา ควรอาบน้ำ สระผม และเปลี่ยนเสื้อผ้าชุดใหม่ทุกครั้ง
– หากไม่สามารถอาบน้ำได้ ควรใช้ผ้าเช็ดเหงื่อให้แห้งทุกครั้งหลังเหงื่อออก ไม่ควรปล่อยให้คราบเหงื่อแห้งติดตัวเป็นเวลานาน
– สวมเสื้อผ้าที่ระบายอากาศได้ดี โดยเฉพาะหากสภาพอากาศร้อน ควรใช้ผ้าที่ทำจากเส้นใยธรรมชาติ เช่น ผ้าฝ้าย แทนผ้าใยสังเคราะห์
– เปลี่ยนเสื้อผ้าชุดใหม่ทุกวัน ส่วนเสื้อผ้าที่ใส่แล้วควรซักให้สะอาด และตากแดดให้แห้งสนิท
– กลิ่นตัวที่เหม็นติดเสื้อผ้า ให้นำไปแช่ในน้ำส้มสายชูสักครู่ ก่อนจะนำไปซักตามปกติ กลิ่นเหม็นจะจางหายไป เสื้อผ้าบริเวณรักแร้ที่เป็นคราบเหลือง นำน้ำส้มสายชูมาทาตรงรอยเปื้อนให้ชุ่ม ยังช่วยขจัดคราบได้อีกด้วย
– หมั่นซักผ้าปูที่นอน ปลอกหมอน และผ้าห่มให้สะอาดเป็นประจำ
– รับประทานอาหารที่ก่อให้เกิดกลิ่นตัวแต่น้อย
วิธีการขจัดกลิ่น
หลายคนอาจจะเลือกใช้น้ำหอมในการกลบกลิ่นตัว แต่หากมีเหงื่อออกมาก และไม่ได้ชำระล้างออกก่อน จะทำให้กลิ่นน้ำหอมนั้นกลายเป็นกลิ่นฉุนมากยิ่งขึ้นไปอีก
ส่วนผลิตภัณฑ์ดับกลิ่นตัวที่มีขายในท้องตลาดนั้นมีหลายประเภท ควรเลือกใช้ให้เหมาะสม เมื่อหลายปีก่อนมีข่าวออกมาว่า โรลออนประเภท “Antiperspirants” หรือโรลออนลดการขับเหงื่อ ซึ่งระงับกลิ่นกายด้วยการใช้สารที่ไปปิดกั้นรูขุมขน ทำให้ไม่มีเหงื่อออก ไม่เกิดกลิ่นตัว แต่ผลวิจัยชี้ว่าอาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดซีสต์ เนื้องอก และมะเร็งเต้านม
คำแนะนำ คือ ให้ใช้โรลออนธรรมดาประเภท “Deodorants” หรือโรลออนดับกลิ่นแทน แต่ก็มีงานวิจัยเล็กๆ อีกชิ้นที่ระบุว่าสารกันเสียในโรลออน ก็ทำให้เกิดความเสี่ยงดังกล่าวได้เช่นกัน อย่างไรก็ตาม งานวิจัยจากบริษัทผู้ผลิตยืนยันว่าผลิตภัณฑ์ของตนมีความปลอดภัย ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญเรื่องโรคมะเร็งก็บอกเช่นกันว่า ยังไม่มีหลักฐานที่แน่ชัดว่าสารต่างๆ ในโรลออนกับมะเร็งมีความสัมพันธ์กัน
หลายคนที่ยังไม่วางใจกับผลิตภัณฑ์สมัยใหม่ จึงหันมาใช้ตัวช่วยดั้งเดิมในการกำจัดกลิ่นตัวที่ใช้กันมาแต่โบร่ำโบราณอย่างสารส้ม ใช้ทาถูที่รักแร้หลังอาบน้ำทุกครั้ง โดยทาขณะที่รักแร้ยังเปียกอยู่
นอกจากนี้ยังมีสมุนไพรต่างๆ เช่น
ใบพลู ซึ่งมีสรรพคุณในการฆ่าเชื้อและยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรีย นำมาขยี้แล้วทารักแร้หลังอาบน้ำ
ใบฝรั่ง นอกจากจะช่วยระงับกลิ่นปากได้แล้ว ยังช่วยระงับกลิ่นตัวได้เช่นกัน โดยนำใบฝรั่งประมาณ 10 ใบ มาโขลกให้ละเอียด แล้วทารักแร้ทิ้งไว้ 5 นาที แล้วอาบน้ำให้สะอาด
มะนาว ใช้มะนาวผ่าซีกทาบริเวณรักแร้ขณะอาบน้ำ แล้วล้างออกด้วยน้ำสะอาด
มะขามเปียก คั้นน้ำมะขามเปียกปริมาณพอเหมาะ จากนั้นกรองด้วยผ้าขาวบาง ใช้ถูตัวขณะอาบน้ำ จะช่วยขจัดเซลล์ผิวที่ตายแล้วไม่ให้เกิดการหมักหมม
หากดูแลตัวเองตามนี้แล้วยังไม่ดีขึ้น ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคผิวหนัง
ขอขอบคุณข้อมูลและรูปภาพ : manager.co.th