8 ก.พ. เปลี่ยนผ้าไตรจีวรครองหลวงพ่อครูบากัญไชย กาญจโน

ความเคารพศรัทธาในพิธีกรรม ๑

         วันที่ 8 กุมภาพันธ์  2559  เป็นวันเปลี่ยนผ้าไตรจีวรครองของหลวงพ่อครูบากัญไชย  กาญจโน  แห่งวัดมาตานุสรณ์แล้วนะครับ  ท่านที่เคารพครับ  ย้อนอดีตไปเมื่อปี 2510  ผมได้กราบคารวะฝากเนื้อฝากตัวเป็นศิษย์ของพระเดชพระคุณท่านเป็นต้นมาจวบจนหลวงพ่อครูบากัญไชย  กาญจโน ท่านได้ลาลับละสังขารสันตกาลผ่านพ้นเมื่อปี 2542  ผมสับเปลี่ยนหมุนเวียนกับสานุศิษย์คนอื่น ๆ ติดตามดูแลปรนนิบัติรับใช้ท่านไปยังจังหวัดต่าง ๆ เมื่อท่านเอาธุระในกิจนิมนต์ จวบจนบั้นปลายชีวิตของพระเดชพระคุณที่ผมและครอบครัวได้มีโอกาสติดตามดูแลพระเดชพระคุณท่านอย่างใกล้ชิดที่สุด  ความจริงแล้วหลวงพ่อท่านมีลูกศิษย์ลูกหามากมาย  ทั้งข้าราชการ  ทหาร  พ่อค้าคหบดี  และชาวไร่ชาวสวน  ที่แวะเวียนนมัสการกราบไหว้ท่านอยู่เป็นประจำ  หลายคนคงกังขาว่าทำไมลุงหั่งชอบพูดชอบเขียนว่า  มีสามลูกศิษย์ของท่านที่ผมหมายถึง ลุงหั่ง  ท่านครูบาวัฒน์และท่านครูบาเงิน  ตลอดระยะเวลากว่าสิบปีที่ผ่านพ้น  ที่ผมเอ่ยอ้างก็เพราะเป็นความจริงที่ผมและ 2 ท่านครูบาเจ้า  ยังเป็นผู้สืบทอดเจตนารมณ์ของหลวงพ่ออยู่ในเรื่องพิธีกรรมต่าง ๆ ที่เป็นรูปธรรม  และก็เป็นความจริงว่า  พระเดชพระคุณหลวงพ่อครูบากัญไชย  เป็นพระเถระผู้ทรงศีลบริสุทธิ์  มีจริยาวัตรนุ่มนวล  มีปฏิปทาอันงดงาม  สมเป็นสมณสารูปทุกอย่าง  พลังจิตที่เปี่ยมไปด้วยอัปปนาสมาธิ  ท่านล่วงรู้เหตุการณ์ล่วงหน้าได้อย่างแม่นยำ  ผมเคยเล่าในคอลัมน์คอกาแฟมาแล้วหลายครั้ง  ที่ท่านบอกให้ผมก่อตั้งหน่วยกู้ภัยขึ้นมาเพื่อช่วยรักษาเมืองแม่สอดเอาไว้  โดยการตั้งหน่วยดับเพลิงขึ้นมาเพื่อรองรับเหตุเพลิงไหม้ที่อาจจะเกิดขึ้นแก่ตลาดแม่สอดและชุมชนต่าง ๆ ที่ท่านบอกจำนวนครั้ง  และวันเดือนปีที่เกิด  เมื่อครบตามนั้น  แม่สอดก็อยู่รอดปลอดภัยจากเหตุเพลิงไหม้นับแต่นั้นมา  ท่านมองกาลไกลว่า  ผมกับสองครูบาเจ้าคือท่านครูบาวัฒน์และท่านครูบาเงิน  จะต้องเป็นผู้สืบทอดความรู้ความเข้าใจ  และสามารถเป็นขวัญกำลังให้แก่ชาวบ้านได้  ท่านจึงถ่ายทอดวิชาอาคมให้เราทั้งสามคน  กับพิธีกรรมต่าง ๆ โหราศาสตร์พื้นบ้านและอื่น ๆ อีกมากมาย  หลายท่านคงทราบดีลุงหั่งไม่มีลูกศิษย์ที่มารับสืบทอดวิชาต่าง ๆ จากลุงหั่งอย่างจริงจัง  ฉะนั้นผมจึงเขียนหนังสือที่เกี่ยวกับพิธีกรรม  เวทมนต์คาถา  โหราศาสตร์พื้นบ้านแจกให้แก่ผู้ที่เคารพศรัทธาต่อหลวงพ่อ  และท่านเจ้าพ่อพะวอ  ทุกพิธีการ  ทุกพิธีกรรม  จะเห็นได้ว่า  ในขณะที่ลุงหั่งเป็นกถิกาจารย์เจ้าพิธีจึงมีเครื่องขยายเสียงให้คนได้ยินได้ฟังอย่างชัดเจน  นี่แหละลุงหั่งกำลังถ่ายทอดวิชาต่าง ๆ ออกไปให้ผู้คนที่สนใจเก็บบันทึกไว้  ซึ่งแต่ละปีลุงหั่งจะมีของดีออกมาเป็นระยะ ๆ

         ครั้งแรกที่ผมได้ก่อสร้างศาลเจ้าพ่อพะวอไชยมงคล  อัญเชิญพระรูปจำลองของท่านเจ้าพ่อพะวอที่สลักด้วยไม้ขนุนทองมีอายุขัยกว่าสองร้อยปี  แต่ผมขอเรียกขานว่า  เจ้าพ่อพะวอไม้ขนุนทอง 120 ปี  เพื่อให้เป็นรองของวัดไทยสามัคคีที่สร้างขึ้นมาเป็นครูก่อนใคร  พอเปิดศาลได้ไม่นาน  อาเจ๊อาเสี่ย  อาซ้อจากทุกสารทิศที่พบเห็นในอินเตอร์เน็ตต่างพากันมาแวะเวียนที่ศาลเจ้าพ่อพะวอที่บ้านผมเป็นจำนวนมาก  ก็เพราะบริการดีมีฟรีทุกอย่าง  แถมไม่มีค่าครูหรือขอรับบริจาค  ผมกับหมอแต๋วจึงเดือดร้อน  ไม่มีเวลาเป็นของตัวเอง  ต้องคอยต้อนรับขับสู้บรรดาอาเสี่ยทั้งหลาย  หลายคนที่มีชื่อเสียง  เป็นที่รู้จักผู้คนทั่วประเทศ  ในที่สุดผมก็ประกาศงดรับแขกบ้านแขกเมือง  ที่พี่น้องชาวแม่สอดบ้านเรานี่แหละชอบแนะนำมา  ( และบอกไปทุก ๆครั้งว่า  ผมไม่ใช่ร่างทรงนะครับ  อิอิ… )   ทุกวันนี้ผมและครอบครัวมีความสุขพอสมควร  โดยนึกถึงคำสอนของหลวงพ่อและวัตรปฏิบัติของหลวงพ่อว่า  ท่านไม่เคยอวดอ้างอุตริมนุสธรรมใด ๆ   เพียงแต่หากมีอะไรที่ผิดสังเกตหรือมีสิ่งบอกเหตุที่มาจากพิธีกรรม  โดยเฉพาะวันเจ้าพ่อพะวอ  ซึ่งชาวแม่สอดไม่ควรลบหลู่  ดังเช่นบอกเหตุเภทภัยจากอุบัติตายหมู่บนดอยรวก  ในพิธีกรรมก็ยังบอกไว้ล่วงหน้า  และก็เกิดขึ้นมาจริง ๆ เมื่อมีสิ่งบอกเหตุผมก็จะจัดให้มีพิธีสืบชะตาเมืองแม่สอด  สืบชะตาหมู่บ้านต่าง ๆ และอัญเชิญรูปจำลองของท่านเจ้าพ่อพะวอแห่แหนไปรอบ ๆ ตลาดแม่สอดเป็นสิริมงคล  เป็นคติความเชื่อและความเคารพศรัทธาเชื่อมั่นว่า  ท่านเจ้าพ่อพะวอสามารถดลบันดาลประทานพรความนิรันตรายทั้งปวงแก่เราท่านทั้งหลายได้อย่างปาฏิหาริย์และอัศจรรย์ที่สุด  คณะทำงานของเราทุกรูปทุกคนมีความภาคภูมิใจ  ว่าสิ่งที่อาจจะเกิดขึ้นตามหลาย ๆ กระแส  ก็ไม่เกิดขึ้นอย่างที่เราคาดหมาย

         ตลอดชีวิตที่อยู่ในวงล้อมของความศักดิ์สิทธิ์ที่เราสามารถสัมผัสได้  พิธีกรรมความเคารพศรัทธาความเชื่อจากพิธีกรรมต่าง ๆ หรือจากพระราชพิธี  ดังที่ผมเคยกราบเรียนว่าเราแยกกันไม่ออกหรอกครับ  พิธีสงฆ์และพิธีพราหมณ์  ปัจจุบันเราจะก้าวหน้าทันสมัย  พิธีกรรมความเชื่อ  ความศักดิ์สิทธิ์  และโหราศาสตร์กับวิทยาศาสตร์  แม้จะแตกต่างกันและขัดแย้งกัน แต่ ณ บัดนี้สังคมไทยเรา  จะเป็นสังคมที่ค่อนข้างเปิดกว้าง  เปิดรับแนวคิดต่าง ๆ ทั้งศาสนา  โหราศาสตร์  พิธีกรรม  วิทยาศาสตร์และการเมือง  แม้ประเทศไทยจะนับถือพระพุทธศาสนามานานนับพัน ๆ ปี  แต่ก็ต้องยอมรับนับถือและเชื่อมั่นในพิธีกรรมต่าง ๆ จากพุทธศาสนา  และศาสนาพราหมณ์  ผมชอบศึกษาหาความรู้จากประวัติศาสตร์ชาติไทยมาพอสมควร  เมื่อ 400 กว่าปีมาแล้วในรัชสมัยของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช  พระองค์ท่านประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ หลายพิธีก่อนจะออกศึก  พระองค์ท่านประกอบพิธีตัดไม้ข่มนามที่ทุ่งลุงพลี  ประกอบพิธีบำบวงเซ่นสรวงหรือพิธีบวงสรวงสักการะนี่แหละ    จากนั้นหลายร้อยปีที่ผ่านมาจวบจนปัจจุบัน

         เห็นจะไม่ต้องเล่านะครับ  เอาแค่ 24  มกราคม 2559ที่ผ่านมา  ลูกศิษย์ของหลวงพ่อจรัญ  ฐิตธัมโม  แห่งวัดอัมพวันสิงห์บุรี  ( ท่านได้ละสังขารไปเมื่อ 25 มกราคม  2559 แล้วครับ )จัดพิธีบวงสรวงอัญเชิญเทพยดาและสิ่งศักดิ์สิทธิ์คุ้มครองรักษาให้หลวงพ่อหายจากอาพาธ  หลังจากท่านเข้ารับการรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลศิริราช  เมื่อ 2 เดือนก่อน  ( ใครชอบโจมตีเรื่องพิธีกรรมขอได้โปรดอ่านหลาย ๆ ครั้งด้วย )  พิธีตัดไม้ข่มนามเพื่อเป็นขวัญกำลังใจแก่ทหารหาญทั้งปวง  ทำให้กำลังใจของทหารกล้าของไทย  แม้จะมีกำลังไม่มากมายเท่ากับกำลังของข้าศึกศัตรู  แต่ก็สร้างความฮึกเหิมแก่บรรดาทหารกล้าทุก ๆ คน  เฉกเช่นพระเดชพระคุณหลวงพ่อครูบากัญไชย  กาญจโน  พระอาจารย์ของผม  ตลอดระยะเวลาอันยาวนานที่ท่านอยู่วัดมาตานุสรณ์  ท่านสร้างวัตถุมงคลของท่านเพียง 6 รุ่นเท่านั้น  ทุกครั้งที่ท่านมอบวัตถุมงคลให้แก่ผู้ใด  ท่านจะสร้างความอบอุ่นใจ  และความปีติยินดีแก่ผู้รับทุกครั้ง  บางรายท่านจะทราบด้วยญาณอันสูงส่งของท่านเหมือนรู้ใจ  ท่านจะสร้างความมั่นใจแก่ผู้รับว่าสิ่งของนั้น ๆ ผ่านการปลุกเสกมาหรือไม่

         ( ลุงหั่งโชคดีที่ได้รับเมตตาจึงมีสิ่งนี้จากท่าน )  ให้ทุกคนเกิดความปีติและเกิดความหวงแหนสิ่งของที่ท่านมอบให้  เพราะท่านต้องใช้เวลามากในการปลุกเสก  หรือพุทธาภิเษกมาหลายครั้ง ท่านได้ละสังขารไปนานแล้วถึง 17 ปีเต็มในวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2559  เป็นวันครบรอบการละสังขารของท่าน  ทางวัดจัดให้มีพิธีบวงสรวงและเปลี่ยนผ้าไตรจีวรครองของอมตสรีระสังขารของท่านในยามบ่ายวันที่ 8 กุมภาพันธ์  2559  เราไปไหว้สาบูชาอมตะสรีระสังขารของเทพเจ้านักบุญแห่งลุ่มแม่น้ำเมย  ครูบาเจ้ากั๋ญไชย  ก๋าญจโน  พระมหาเถโรด้วยกันครับ.

 

ชัย  เมืองฉอด