ข่าวทั่วไป : แจงทุกข้อกังวล กม.แรงงานต่างด้าวใหม่ ให้โอกาส 2 เดือนเข้าระบบถูกต้อง
อธิบดีกรมจัดหางานแจงยิบ ข้อกังวลกฎหมายแรงงานต่างด้าวฉบับใหม่ เปิดโอกาส 1-2 เดือนให้แรงงานผิดกฎหมายกลับไปทำเรื่องให้ถูกต้อง เปลี่ยนชื่อนายจ้างให้ตรงกัน ย้ำไม่เปิดขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายอีก แจงโทษปรับแรงขึ้นให้เท่ากับกฎหมายแรงงานฉบับอื่น
วันนี้ (29 มิ.ย.) นายวรานนท์ ปีติวรรณ อธิบดีกรมการจัดหางาน (กกจ.) กระทรวงแรงงาน กล่าวถึงข้อกังวลต่างๆ เกี่ยวกับ พ.ร.ก. การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 ที่บังคับใช้ไปเมื่อวันที่ 23 มิ.ย. 2560 ที่ผ่านมา ว่า กรมฯ ได้นำข้อมูลและผลการรับฟังความคิดเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและภาคประชาสังคมมาใช้เพื่อประกอบการพิจารณา ตั้งแต่ก่อนเสนอร่าง พ.ร.ก. ต่อ ครม. และเมื่อสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ตรวจพิจารณาร่างฯ แล้วเสร็จ กรมฯ ก็ได้จัดการรับฟังความคิดเห็นด้วยวิธีการสัมมนา ส่งแบบสอบถาม และรับฟังผ่านเว็บไซต์มาตลอด ส่วนกรณีคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน (กกร.) มีหนังสือเสนอให้เปิดการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายทั่วประเทศอีกครั้ง ต้องเรียนว่า ที่ผ่านมามีการเปิดจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย 4 ครั้งแล้ว หากยังเปิดลงทะเบียนเรื่อยๆ ก็จะมีอีกต่อไป แรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายก็จะไม่มีวันหมด สิ่งที่ต้องทำคือ ทำให้ถูกต้องตามกฎหมาย
นายวรานนท์ กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ว่าจะไม่มีมาตรการดูแลเลย เนื่องจากนายกรัฐมนตรีกำชับว่า ต้องหามาตรการมาดูแลเพื่อลดผลกระทบกับผู้ประกอบการ โดยกรมการจัดหางาน ได้มีแนวทางวางไว้ให้ คือ 1.มีมาตรการผ่อนคลายด้วยการให้แรงงานต่างด้าวที่ผิดกฎหมาย กลับไปดำเนินการให้เข้าสู่ระบบอย่างถูกต้อง เป็นเวลาประมาณ 1-2 เดือน ซึ่งหากเป็นแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายที่ไม่มีเอกสารใดๆ เลย และต้องกลับประเทศไปดำเนินการให้ถูกต้อง มั่นใจว่าระยะเวลาดังกล่าวน่าจะเพียงพอในการดำเนินการ โดยมีค่าใช้จ่ายตกคนละไม่เกิน 20,000 บาท ซึ่งถือว่าคุ้มค่าเมื่อเทียบกับการถูกกฎหมาย และลดปัญหาต่างๆ ทั้งนี้ ระหว่างนี้หากผู้ประกอบการไม่มีแรงงานในการดำเนินงาน ก็สามารถติดต่อมายัง กกจ.ได้ เนื่องจากมีคนไทยที่พร้อมจะทำงานอีกประมาณ 7-8 พันคนต่อเดือน ซึ่งจะทดแทนปัญหาจุดนี้ได้
นายวรานนท์ กล่าวว่า 2. เปิดโอกาสให้นายจ้างมายื่นขอเปลี่ยนชื่อนายจ้างใหม่ได้ โดยจ่ายค่าธรรมเนียมเพียง 100 บาท เนื่องจากเดิมทีนายจ้างจะประสบปัญหาแรงงานต่างด้าวย้ายงาน แต่ชื่อยังติดกับนายจ้างคนเดิม อาจจะเกิดปัญหาได้ จึงเปิดโอกาสให้เปลี่ยนชื่อนายจ้างได้ ซึ่งจากการตรวจสอบที่ผ่านมาพบปัญหาแรงงานต่างด้าวทำงานไม่ตรงกับนายจ้างที่ขึ้นทะเบียนไว้กว่าครึ่ง วิธีนี้ก็จะช่วยบรรเทาปัญหาได้ และ 3.การลงนามความร่วมมือกับพม่า เพื่อลดขั้นตอนในกระบวนการเข้าสู่ระบบแรงงานที่ถูกกฎหมาย โดยวันที่ 29 มิ.ย. จะเดินทางไปยังพม่าเพื่อหารือเรื่องนี้
“ข้อกังวลเรื่องโทษปรับที่มากถึง 4 แสนบาท ต้องบอกว่า โทษก็ยังเป็นความผิดตามกฎหมายเดิม แต่ที่ปรับให้มากขึ้น ก็เพื่อให้สอดคล้องกับกฎหมายฉบับอื่นด้วย เช่น กฎหมายการค้ามนุษย์ กฎหมายการใช้แรงงานเด็ก และกฎหมายแรงงานประมง หากทำผิดก็มีโทษปรับ 4 แสนบาทเช่นกัน ซึ่งการมีมาตรฐานของโทษที่ใกล้เคียงกันจะทำให้สังคมโลกยอมรับในการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าว ส่วนข้อกังวลเจ้าหน้าที่เรียกเก็บค่าปรับ ขอย้ำว่า หากมีการกระทำความผิด เจ้าหน้าที่รัฐจะไม่สามารถเรียกเก็บค่าปรับ ณ ที่เกิดเหตุได้ทันที แต่ต้องมีการส่งเรื่องและประสานไปยังผู้ว่าราชการจังหวัด เพื่อพิจารณา และให้ผู้ที่เข้าข่ายกระทำผิดยอมรับสารภาพ และเปรียบเทียบปรับตามขั้นตอน ซึ่งหากพบเจ้าหน้าที่เรียกเก็บถือว่ามีความผิด ก็ยื่นเรื่องเอาผิดได้เช่นกัน ซึ่งนายกฯ ก็กำชับว่า ต้องดูแลให้ดีหากพบว่าเจ้าหน้าที่รัฐทำผิด หรือทุจริตต้องมีโทษหนักเช่นกัน ส่วนที่กังวลว่ามีโทษถึง 8 แสนบาทนั้น เป็นโทษขั้นสูงจะหมายถึงมีความผิดกรณีอื่นๆ เช่น ค้ามนุษย์ แต่ทั้งหมดอยู่ดุลยพินิจของศาล” นายวรานนท์ กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่าแรงงานต่างด้าวมีการย้ายพื้นที่ทำงาน จะเข้าข่ายผิดกฎหมายนี้ด้วยหรือไม่ นายวรานนท์ กล่าวว่า ไม่ผิดแน่นอน เพราะกฎหมายปลดล็อกโดยไม่ระบุพื้นที่ทำงาน แต่ขอให้ทำงานตรงกับนายจ้างที่ระบุไว้ ซึ่งสอดคล้องกับการเปิดให้นายจ้างมาเปลี่ยนชื่อให้ถูกต้อง รวมทั้งยังตัดช่องทางการถูกเจ้าหน้าที่รีดไถ และการเปลี่ยนนายจ้างเองของลูกจ้างด้วย เช่น เดิมอยู่กับนายจ้าง ก. ก็เปลี่ยนเองไปอยู่กับนายจ้าง ข. เป็นต้น สำหรับการตรวจจับนั้น หากพบว่านายจ้างมีการใช้แรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายซึ่งหน้า คือ ระหว่างทำงาน เจ้าหน้าที่รัฐพบต้องดำเนินคดีตามกฎหมายทันที มิฉะนั้นจะเข้าข่ายละเว้นปฏิบัติหน้าที่ แต่หากนายจ้างคนใดทราบว่า แรงงานของตนผิดกฎหมาย ให้รีบส่งแรงงานต่างด้าวมาแสดงตนและดำเนินการให้ถูกต้องจะดีที่สุด ซึ่งหากมีการดำเนินการก็ไม่ต้องกังวลว่าจะถูกจับกุม
นายวรานนท์ กล่าวว่า พ.ร.ก.ดังกล่าว นอกจากจะทำทุกอย่างอย่างถูกกฎหมายแล้ว ยังพบว่า ช่วยลดปัญหาเรื่องสาธารณสุขอีก เนื่องจากในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาพบว่าต้องใช้งบประมาณในการดูแลสุขภาพแรงงานต่างด้าวที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนถูกต้องสูงถึง 8,000 ล้านบาท แต่หากเข้ามาถูกกฎหมายก็จะอยู่ในระบบประกันสังคม ก็จะถือเป็นเรื่องของความเป็นธรรมกับคนไทยเองในเรื่องนี้ที่ต้องจ่ายภาษีกันทุกคน
นายวรานนท์ กล่าวว่า นอกจากนี้ ข้อดีของกฎหมายฉบับนี้มีมากมาย อาทิ เมื่อแรงงานต่างด้าวเข้ามาถูกต้องตามกฎหมาย ก็จะควบคุมดูแลได้ ซึ่งแรงงานต่างด้าวจะได้รับการคุ้มครองและมีสิทธิประโยชน์ตามที่พึงได้ อีกทั้ง เนื้อหาสาระของพ.ร.ก.ยังเป็นการส่งเสริมสนับสนุน (Promotion) ส่งเสริมการจ้างแรงงานไทย โดยเปิดโอกาสให้รับแรงงานไทยเข้าทำงานเป็นลำดับแรก ส่งเสริมการนำเข้าแรงงานต่างด้าวอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งในปัจจุบันกระทรวงแรงงานได้มีการปรับปรุงระเบียบให้เกิดความสะดวก รวดเร็ว และประหยัดค่าใช้จ่าย เมื่อการเข้ามาอย่างถูกกฎหมาย มีค่าใช้จ่ายน้อยและสะดวกรวดเร็ว การกระทำผิดกฎหมายก็จะลดลงตามลำดับ และเป็นการแก้ไขปัญหาแรงงานต่างด้าวอย่างยั่งยืน
ขอขอบคุณข้อมูลและรูปภาพ: http://manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9600000066406