ข่าวแม่สอด : โครงการก่อสร้างทางรถไฟ สาย แม่สอด-ตาก-กำแพงเพชร-นครสวรรค์

การประชุมโครงการสำรวจศึกษางานสำรวจ ออกแบบรายละเอียด และจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม
โครงการก่อสร้างทางรถไฟ สาย แม่สอด-ตาก-กำแพงเพชร-นครสวรรค์
“กรณีพื้นที่ตำบลแม่ปะ อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก”
         เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2565 ณ วัดโพธิคุณ ผู้แทนโครงการสำรวจศึกษางานสำรวจ ออกแบบรายละเอียด และจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม เพื่อเตรียมการก่อสร้างทางรถไฟ สาย แม่สอด-ตาก-กำแพงเพชร-นครสวรรค์ ของการรถไฟแห่งประเทศไทย ได้ร่วมกับผู้นำชุมชนตำบลแม่ปะ ได้จัดประชุมชี้แจงข้อมูลแนวเส้นทาง รูปแบบของการพัฒนาโครงการ พร้อมทั้งชี้แจงผลกระทบและมาตรการที่กำหนด ในพื้นที่ชุมชนห้วยหินฝน ตำบลแม่ปะ อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก โดยมีท่านเจ้าอาวาสวัดโพธิคุณ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำชุมชน ในตำบลแม่ปะสนใจเข้าร่วมรับฟังข้อมูลและร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น โดย ดร.พิเศษ เสนาวงษ์ ผู้ชำนาญการสิ่งแวดล้อม ได้สรุปสถานะโครงการว่า ในขณะนี้การศึกษาได้ดำเนินการแล้วเสร็จตามขอบเขตงาน ทั้งในงานศึกษา สำรวจ ออกแบบทางวิศวกรรม การศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม และการดำเนินกิจกรรมในการรับฟังความคิดเห็น โดยในขณะนี้ ทางคณะศึกษาได้จัดส่งผลงานให้แก่การรถไฟฯ แล้ว อยู่ในขั้นตอนที่การรถไฟฯ จัดส่งรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมให้แก่คณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานฯ (คชก.) พิจารณา ซึ่งนำเสนอเพื่อพิจารณาออกเป็น 2 ตอน ช่วงที่ 1 นครสวรรค์-ตาก ระยะทาง 183 กม. และช่วงที่ 2 ตาก-แม่สอด ระยะทาง 67 กม.
โครงการก่อสร้างทางรถไฟ
          สำหรับการประชุมระดับพื้นที่ในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2565 ที่ผ่านมา ทางโครงการได้ลงพื้นที่ประชุมในระดับท้องถิ่นตามแนวเส้นทาง เป็นการดำเนินงานเพิ่มเติมที่โครงการจัดขึ้น เนื่องจากในช่วงการศึกษาที่ผ่านมา ในพื้นที่เกิดสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (covid-19) ซึ่งเป็นข้อจำกัดและมีผลต่อการจัดกิจกรรมการรับรู้ข้อมูล ซึ่งในขณะนี้สถานการณ์การดังกล่าวดีขึ้น เพื่อให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้นำชุมชน และประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการ ได้รับทราบข้อมูลรายละเอียดเกี่ยวกับสรุปผลการศึกษา สรุปรูปแบบโครงการ มาตรการลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม หลักเกณฑ์ในการเวนคืนที่ดินและชดเชยทรัพย์สิน สำหรับการประชุมในวันนี้ เป็นการจัดกิจกรรมเพิ่มเติมในส่วนของพื้นที่ชุมชนห้วยหินฝน ตำบลแม่ปะ ซึ่งที่ผ่านมาท่านผู้ว่าราชการจังหวัดตาก ได้ประสานมายังและผู้ศึกษาฯ ให้พิจารณาเพิ่มเติมและหารือกับท้องถิ่นในผลกระทบต่อแหล่งต้นน้ำ ตาน้ำ ของตำบลแม่ปะ ที่อาจได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างอุโมงค์ดอยพะวอ ในเส้นทางรถไฟช่วง แม่สอด-ตาก กม.ที่ 223+758 ถึง 235+758 ระยะทางราว 12 กม. ซึ่งทางโครงการได้จัดการประชุมประชาชนในตำบลแม่ปะ เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2565 ณ วัดเวฬุวัน มีผู้เข้าร่วมราว 160 คน ซึ่งที่ประชุมไม่มีผู้ใดหยิบยกประเด็นดังกล่าวขึ้นในที่ประชุม ส่วนใหญ่เป็นประเด็นผลกระทบต่อที่ดินและการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิต อย่างไรก็ตาม ทางคณะศึกษาได้รับทราบความกังวลของพื้นที่โดยผู้นำชุมชนที่ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมหลังการประชุมประชาชนในวันดังกล่าว โดยได้นำประเด็นความห่วงกังวลและข้อมูลประกอบส่งต่อให้คณะผู้ศึกษา ผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้อง และวิศวกรที่ออกแบบ นำไปศึกษาและพิจารณาเพิ่มเติมโดย ในการลงพื้นที่ครั้งนี้เป็นการประสานงานกับกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำชุมชนในพื้นที่เพื่อนำผลการพิจารณาประเด็นดังกล่าวให้ข้อมูลชี้แจงต่อพื้นที่
         สรุปประเด็นสำคัญต่อประเด็นน้ำใต้ดินบริเวณอุโมงก์พะวอ หลังการศึกษาและวิเคราะห์ข้อมูลเพิ่มเติม ทางโครงการศึกษายืนยันผลการศึกษาเป็นมาตรฐานทางวิศวกรรมที่ได้ดำเนินการมาครอบคลุมทั้งพื้นที่ด้วยการบินถ่ายภาพทางอากาศ การวิเคราะห์ข้อมูลธรณีวิทยา อุทกวิทยาและอุทกธรณีวิทยา ว่าการออกแบบอุโมงก์มีความเหมาะสมและจะไม่มีผลกระทบต่อตาน้ำในบริเวณดังกล่าวแต่อย่างใด โดยบ่อน้ำซับที่เป็นตาน้ำในบริเวณนี้ เป็นตาน้ำในลักษณะน้ำซับ ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากน้ำที่ไหลในพื้นที่รับน้ำจากยอดเขามาไหลรวมในบ่อดังกล่าวซึ่งอยู่ต่ำกว่า และอีกส่วนหนึ่งเป็นน้ำที่ไหลซึมลงสู่ดินจากพื้นที่รับน้ำที่แทรกผ่านช่องว่างของดินมารวมสู่บ่อในบริเวณนี้ ซึ่งมีทิศทางการไหลจากทางทิศใต้ไปสู่ทิศเหนือ โดยไม่มีน้ำที่ได้จากการพุหรือซึมจากน้ำบาดาลชั้นหินซึ่งมีความลึกมากในบริเวณนี้ ประเด็นผลกระทบจากอุโมงค์ดอยพะวอนั้น ตัวอุโมงค์จะอยู่ทางด้านทิศเหนือของวัดโพธิคุณ ห่างออกไปราว 60 เมตร และวางตัวอยู่ในแนวชั้นหินทึบใต้ดินราว 120 เมตร โดยมาตรฐานการออกแบบที่เป็นสากล และวิธีการก่อสร้างที่เจาะไปพร้อมกับการก่อสร้างปิดผิวอุโมงค์ จึงไม่มีโอกาสให้น้ำซึมผ่านได้ และตัวอุโมงค์อยู่ทางทิศเหนือของบ่อน้ำซับ ทำให้ไม่มีผลต่อทิศทางการไหลของน้ำที่จะไปบ่อน้ำซับดังกล่าวแต่อย่างใด
         อย่างไรก็ตาม แม้ว่าผลการศึกษาตามมาตรฐานมางวิชาการเป็นที่ยืนยันว่าอุโมงค์ดอยพะวอจะไม่มีผลกระทบต่อตาน้ำและบ่อซับน้ำแล้ว เพื่อเป็นประโยชน์ในการหารือร่วมกันและเพื่อคลายความกังวลของชุมชนต่อกรณีดังกล่าว จะนำประเด็นความกังวลไปนำเสนอต่อผู้เชี่ยวชาญและวิศวกรเพื่อพิจารณาปรับแนวอุโมงค์ใต้ดินให้ขยับออกจากแนวเดิมไปทางทิศเหนือ เท่าที่ไม่กระทบกับพื้นที่ตาน้ำ และยังอยู่ลึกลงไปใต้ดินราว 120 เมตร แต่ทั้งนี้จะต้องเป็นไปตามมาตรฐานทางวิศวกรรมเป็นสำคัญ และหากมีความเป็นไปได้จึงจะนำเสนอต่อการรถไฟฯ ต่อไป นอกจากนี้ ได้นำเสนอแผนปฏิบัติการในการเฝ้าระวังกรณีบ่อน้ำซับในพื้นที่แม่ปะ เป็นมาตรการในรายงาน EIA ซึ่งจะเป็นเงื่อนไขในการปฏิบัติสำหรับการดำเนินโครงการ เป็นการเฝ้าระวังตามความกังวลของประชาชนในพื้นที่ โดยกำหนดและติดตั้งระบบการเฝ้าระวังและตรวจวัดระดับและปริมาณน้ำในบ่อน้ำซับจำนวน 7 แหล่ง ที่เป็นแหล่งน้ำสำคัญของพื้นที่ ติดตั้งก่อนการก่อสร้าง 1 ปี เพื่อตรวจวัดเป็นฐานอ้างอิง (Baseline) และตรวจวัดต่อเนื่องตลอดการดำเนินการก่อสร้างในพื้นที่ดอยพะวอ และตรวจวัดต่อเนื่องหลังการเปิดใช้งานอีก 5 ปี เพื่อยืนยันกรณีไม่มีผลกระทบ มีการแต่งตั้งคณะกรรมการร่วมเพื่อร่วมพิจารณาผลการเฝ้าระวัง และร่วมตรวจสอบกรณีมีผลกระทบ โดยค่าใช้จ่ายในการดำเนินการเป็นงบประมาณตามแผนปฏิบัติการ หากพบการเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำที่คาดว่าจะเป็นผลจากการก่อสร้าง คณะกรรมการสามารถพิจารณาและแจ้งให้หยุดหรือชะลอการก่อสร้างได้โดยทันที เพื่อตรวจสอบสาเหตุที่ชัดเจน และกรณีที่ผลการตรวจสอบแน่ชัดว่า ผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อการลดลงของน้ำจากอุโมงค์รถไฟ การรถไฟฯ จะรับผิดชอบในการศึกษา สำรวจ และแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น รวมทั้งหากครอบคลุมถึงการพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อผันน้ำหรือทดแทนแหล่งน้ำให้การใช้น้ำเป็นไปอย่างเพียงพอ
         ดร. พิเศษ ได้เสริมเพื่อให้เกิดความชัดเจนว่าในขณะนี้การรถไฟฯ ได้นำเสนอโครงการทั้งสองช่วงตอนไปพร้อมกัน ตามผลการศึกษาคาดหมายว่า หากการพิจารณารายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมในช่วงปี 2566-2567 การรถไฟฯ ก็จะมีการจัดงบประมาณการสำรวจเพื่อการเวนคืนและจัดกรรมสิทธิ์ ในปี 2568-2569 และการก่อสร้างจะใช้เวลาประมาณ 3 ปี คาดหมายการเปิดเดินรถในปี 2573 ซึ่งในขณะนี้ ในส่วนของช่วงที่ 1 นครสวรรค์-ตาก ที่ไม่มีประเด็นพิจารณาใดและในพื้นที่มีความต้องการขับเคลื่อนโครงการ น่าจะสามารถดำเนินการได้ตามแผนดังกล่าว ส่วนกรณีของช่วง 2 แม่สอด-ตาก นั้น ทางโครงการไม่มีข้อเสนอในกรณีการขอชะลอโครงการ หรือปรับเปลี่ยนแนวเส้นทาง หรือยกเลิกการมีสถานีแม่ปะที่เป็นข่าวในพื้นที่แต่อย่างใด ทั้งนี้ ข้อเสนอดังกล่าวเป็นข้อเสนอของภาคธุรกิจเอกชนของจังหวัดตาก ผู้นำชุมชน และจิตอาสาในพื้นที่อำเภอแม่สอด โดยทางโครงการศึกษาได้ยืนยันความเหมาะสมทางวิศวกรรมที่ศึกษาครอบคลุมตามมาตรฐานทางวิชาการแล้ว แต่หากในพื้นที่ยังมีความกังวลหรือไม่ต้องการให้มีการพัฒนาเส้นทางรถไฟในช่วงแม่สอด-ตาก ก็ยังคงเป็นสิทธิและมีกระบวนการที่สามารถแสดงความเห็นไปในช่องทางต่าง ๆ ได้ต่อไป ซึ่งการพิจารณาชะลอโครงการหรือดำเนินการหรือไม่ ก็จะเป็นการพิจารณาของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป
——————–
งานศึกษาสำรวจ ออกแบบรายละเอียด จัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม
เพื่อเตรียมการก่อสร้างทางรถไฟ สาย แม่สอด-ตาก-กำแพงเพชร-นครสวรรค์
สามารถติดตามโครงการก่อสร้างทางรถไฟ สาย แม่สอด-ตาก-กำแพงเพชร-นครสวรรค์ เพจ…