ข่าวแม่สอด : สนช.ลงพื้นที่ รถตกค้างชายแดนแม่สอดหลายพันคัน ส่อพิรุธ เร่งสอบ
พล.อ.สิงห์ศึก สิงห์ไพร ประธานคณะกรรมาธิการการพาณิชย์ การอุตสาหกรรม และการแรงงาน สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และคณะ ได้เดินทางลงพื้นที่ชายแดนไทย-พม่า เพื่อดูแนวทาง-ปัญหาอุปสรรคเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษตาก (แม่สอด) อ.แม่สอด จ.ตาก ระหว่างวันที่ 15-17 ก.ค. 2559 โดยได้ประชุมร่วมกับตัวแทนภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคเอกชน รวบรวมปัญหาที่เกิดขึ้นทั้งด้านพาณิชย์ การค้า-อุตสาหกรรม และแรงงานต่างด้าว
โอกาสนี้คณะกรรมาธิการพาณิชย์ การอุตสาหกรรม และการแรงงงาน สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ยังเดินทางไปที่ด่านศุลกากรแม่สอด เพื่อรับฟังการบรรยายสรุปเกี่ยวกับการถ่ายลำรถมือสองจากต่างประเทศที่อยู่ในคลังสินค้าเฉพาะคราว (ภาครัฐ และเอกชน)
นายสมนึก ก๋าแก้ว ผช.นายด่านศุลกากรแม่สอด ได้แจ้งข้อมูลลว่า ในปี 2558 มีรถมือสองตกค้างอยู่ด่านฯ จำนวน 865 คัน รถถ่ายลำที่สำรวจขึ้นบัญชีเป็นของตกค้างจำนวน 189 คัน โดยที่ยังไม่ผ่านแดน ซึ่งรถเหล่านี้มีการรับมาจากอุตสาหกรรมแหลมฉบัง จากนั้นก็ขนส่งมายังด่านฯ แม่สอดเพื่อรอพิธีการผ่านแดนไปประเทศพม่า
จนถึงขณะนี้ด่านฯ แม่สอดยังไม่สามารถดำเนินการใดๆ ได้เนื่องจากติดขัดกฎหมาย จนกระทั่งมีการแก้ไขโดยอธิบดีกรมศุลกากรออกประกาศกรมศุลกากร ฉบับที่ 210/2558 แก้ไขระยะเวลาที่ของผ่านแดนจะอยู่ในราชอาณาจักรภายใน 90 วัน นับแต่เข้ามาในราชอาณาจักร แต่มีผู้ประกอบการ 7 รายได้ยื่นฟ้องศาลปกครอง ให้ศาลมีคำสั่งยกเลิกประกาศกรมศุลกากรวันที่ 210/2558 ทำให้ไม่สามารถดำเนินการใดๆ ได้
ทั้งนี้ ยอมรับว่าผู้ประกอบการอาศัยช่องว่างของกฎหมาย โดยไม่มีเจตนานำของ (รถ) ผ่านแดน เมื่อรถมาถึงด่านฯ แม่สอดก็ไม่มีคนมารับและนำรถไปจอดไว้ในคลังสินค้า ทางด่านศุลกากรแม่สอดก็ไม่สามารถทำอะไรได้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรรมาธิการฯ ได้มีการสอบถามว่า ปัจจุบันมีรถผ่านแดนตกค้างเป็นจำนวนกี่คัน สาเหตุเกิดจากอะไร เมื่อรู้ปัญหาว่าผู้ประกอบการมีเจตนาไม่ผ่านแดน แต่ต้องการนำรถเหล่านี้ไปลักลอบจำหน่าย หรือขายทอดตลาด หรือมีการสวมสิทธิหรือไม่ เนื่องจากรถเหล่านี้ไม่ต้องเสียภาษี ทำให้รัฐเสียหาย และมีแบล็กลิสต์บริษัทหรือผู้ประกอบการเหล่านี้หรือไม่ นอกจากนี้ได้มีการติดป้าย “ห้ามเคลื่อนย้าย” ไว้ที่รถยนต์ตกค้าง หมายความว่าอย่างไร โดยทางเจ้าหน้าชี้แจงว่า ขณะนี้ต้องรอคำสั่งศาลปกครองก่อนว่าจะดำเนินการอย่างไร
พล.อ.สิงห์ศึกกล่าวว่า เรื่องดังกล่าวได้รับการร้องเรียนจากผู้ประกอบการนำเข้ารถมือสองที่นำเข้ารถมาประกอบสภาพในนิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบัง ที่ได้รับผลกระทบจากกลุ่มทุนที่นำเข้ารถมือสองจากต่างประเทศ จากนั้นก็ขนส่งมายังชายแดนด่านศุลกากรแม่สอด แล้วนำมาจอดในพื้นที่ที่มีลักษณะเป็นคลังสินค้า รอขายในเขตชายแดนไทย โดยคนไทย คนต่างด้าว และนำข้ามแดนไปยังประเทศพม่า
พล.อ.สิงห์ศึกกล่าวอีกว่า รถดังกล่าวเป็นรถยนต์มือสองที่นำเข้าจากต่างประเทศโดยผ่านพิธีการศุลกากรตามประกาศถ่ายลำผ่านแดนจากประเทศที่สามนำผ่านประเทศไทย เพื่อไปจำหน่ายที่ประเทศพม่าโดยได้รับการยกเว้นภาษีอากร ซึ่งกรรมาธิการฯ ได้ดำเนินการตรวจสอบและสอบถามมาตั้งแต่ปี 2558 แต่ก็ยังมีปัญหาเหมือนเดิม
แม้ว่าเจ้าหน้าที่ศุลกากรด่านแม่สอดได้ชี้แจงว่าเรื่องนี้อยู่ในระหว่างการพิจารณาจากศาลปกครอง ไม่สามารถทำอะไรได้ ก็เข้าใจ แต่จากข้อมูลที่พบว่ามีรถตกค้างเกือบ 6,000 คัน โดยมีการนำมาพักไว้ในพื้นที่ที่มีลักษณะเหมือนคลังสินค้าในหลายโกดัง ทั้งๆ ที่ต้องส่งผ่านถ่ายลำเลียงไปพม่าตามกำหนดระยะเวลา โดยมีเจ้าของที่แท้จริงเป็นกลุ่มนักธุรกิจชาวพม่า ปากีสถาน และบังกลาเทศ และมีคนบางกลุ่มพยายามใช้เลี่ยงกฎหมายเพื่อไม่ต้องเสียภาษี ตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2469
คณะกรรมาธิการฯ เห็นว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ เป็นเหตุให้นำไปสู่การค้ารถไม่เสียภาษี โดยใช้ช่องว่างและมีการซื้อ-ขายประมูลกัน รถบางคันมีการถอดนำอะไหล่ไปขาย โดยประเทศไทยไม่ได้รับประโยชน์ใดๆ จากภาษีรายได้ที่ควรได้ รถบางคันกลายเป็นขยะ แต่เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องต้องดูแล ตาม พ.ร.บ.ศุลกากร ทั้งๆ ที่ภาษีรายได้ก็ไม่ได้รับ
อย่างไรก็ตาม ทางคณะกรรมาธิการฯ จะได้มีการตรวจสอบข้อเท็จจริงอย่างละเอียดกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไปกับเรื่องนี้เพื่อแก้ไขปัญหาให้ถูกต้อง เช่น การปรับปรุงกฎหมายให้เข้ากับความเป็นจริงหรือแก้ไขระเบียบต่างๆ ให้เข้ากับเรื่องจริง
อนึ่ง จากข้อมูลเกี่ยวกับการถ่ายลำผ่านแดนรถยนต์ที่ตกค้างอยู่ในประเทศไทย ในปีงบประมาณ 2557 มีรถยนต์ตกค้างจำนวน 414 คัน, ปีงบประมาณ 2558 มีรถยนต์ตกค้าง 498 คัน กรณีผ่านแดนในปีงบประมาณ 2558 มีรถยนต์ตกค้าง 5,000 คันเศษ และในปีงบประมาณ 2559 เริ่มมีรถตกค้างแล้วกว่า 2,000 คัน ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจและรัฐสูญเสียรายได้จำนวนมาก
ขอขอบคุณข้อมูลและรูปภาพ : http://www.manager.co.th/Local/ViewNews.aspx?NewsID=9590000071053