ข่าวแม่สอด : ‘แม่สอด’ โชว์พื้นที่ปลูกอ้อยต้นแบบ ผลิตพลังงานสะอาด ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม-ชุมชน
การเก็บเกี่ยวผลผลิตอ้อยด้วยวิธีการตัดสดโดยใช้รถตัด และใช้แรงงานคน
อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก เมืองหน้าด่านทางเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวทางชายแดนตะวันตกของไทยที่กำลังเติบโตอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี ภาคเกษตรกรรมคงมีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาของเขตเศรษฐกิจพิเศษแห่งนี้ โดยเฉพาะการปลูกอ้อยใช้เป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตเอทานอล พลังงานทดแทนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมานานกว่า 10 ปี นับเป็นภาพสะท้อนถึงความร่วมมือของทุกภาคส่วนเพื่อขับเคลื่อนท้องถิ่นสู่ความยั่งยืน
สมชัย กิจเจริญรุ่งโรจน์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดตาก เปิดเผยว่า “จังหวัดตาก เป็นหนึ่งในจังหวัดที่มี
การส่งเสริมการปลูกอ้อยให้กับประชาชนในหลายพื้นที่ ทั้งยังส่งเสริมให้เป็นอาชีพกสิกรรมที่ช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตชุมชน สังคม และเศรษฐกิจของจังหวัด โดยเฉพาะในอำเภอแม่สอดที่เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ ซึ่งมีการปลูกอ้อยเป็นพืชพลังงาน ทางจังหวัดจึงมีนโยบายการส่งเสริมให้เกษตรกรตัดอ้อยสด งดการเผา โดยทำงานร่วมกันกับหน่วยงานท้องถิ่น โรงงาน ชุมชน และพี่น้องเกษตรกรชาวไร่อ้อย ตลอดจนการบังคับใช้กฎหมาย โดยให้ทางอำเภอ ผู้ใหญ่บ้าน กวดขันดูแลพื้นที่การเกษตรอย่างเข้มข้น ซึ่งได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากเกษตรกร ส่งผลให้ขณะนี้ พื้นที่อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก มีการตัดอ้อยสดสะอาดเข้าหีบแล้วกว่า 98%”
ด้าน ชัยพฤกติ์ เชียรธานรักษ์ นายอำเภอแม่สอด ชี้แจงเพิ่มเติมว่า “การสร้างทัศนคติ ความเข้าใจ และกำหนดเป้าหมายร่วมกันของคนในพื้นที่แม่สอดที่ต้องการชุมชนที่สะอาด ปลอดภัย แม้จะมีโรงงานอุตสาหกรรมมาตั้งอยู่ ทำให้เกิดความร่วมมือกันอย่างจริงจังที่จะทำให้อำเภอแม่สอดเป็นแหล่งเกษตรกรรมที่สะอาด ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม คนในชุมชนมีสุขภาวะที่ดี ซึ่งทั้งหมดนี้ จะนำไปสู่ความยั่งยืนในอาชีพด้วย เพราะเชื่อว่าการปลูกฝังทัศนคติที่ดีเช่นนี้จะคงอยู่กับชุมชนไปตลอด”
ขณะเดียวกัน นพพร อุปรี ผู้นำชุมชนและชาวไร่อ้อยในตำบลแม่กาษา อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก เป็นหนึ่งในชาวไร่อ้อยต้นแบบที่ให้ความสำคัญกับการตัดอ้อยสดงดเผา โดยได้ร่วมรณรงค์สนับสนุนนโยบายภาครัฐเพื่อให้มีการตัดอ้อยสดสะอาดในหมู่บ้าน และยังนำองค์ความรู้เกี่ยวกับการทำไร่อ้อยสมัยใหม่มาปรับใช้ในไร่อ้อย
กว่า 300 ไร่ของตนและถ่ายทอดแนวทางให้กับคนในหมู่บ้าน
“ตั้งแต่ทำไร่อ้อยมากว่า 10 ปี ผมตัดอ้อยสดมาตลอด ไม่เคยคิดที่จะเผา ก่อนหน้านี้เคยใช้แรงงานคนตัด แต่หลายปีมานี้ได้เปลี่ยนมาใช้รถตัดแทน หลังจากได้รับการสนับสนุนจากโรงงานในการแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงาน ซึ่งทำให้สามารถตัดอ้อยได้สะดวกรวดเร็ว ได้อ้อยที่น้ำหนักดี หน้าดินไม่เสียหาย สามารถรักษาความชื้นของดินไว้ได้ และที่สำคัญ พี่น้องในชุมชนของเราก็จะมีสุขภาวะที่ดี อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี ทำเกษตรกรกรรมกันต่อไปได้อย่างยั่งยืน หลายคนอาจมองว่าการเผาอ้อยอาจจะทำให้เก็บเกี่ยวได้รวดเร็วและลดค่าใช้จ่ายได้ แต่อันที่จริงแล้ว การเผาอ้อยมีผลเสียมากกว่า แทบไม่ได้ช่วยลดต้นทุนเลย เพราะเมื่อเผาเสร็จแล้ว จะมีค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาดินตามมาอีกมาก ในฐานะผู้นำชุมชนผมก็พยายามสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องให้กับพี่น้องชาวไร่มาโดยตลอด”
เช่นเดียวกับ สมทรง เฮิงโม ชาวไร่อ้อยที่ปลูกและตัดอ้อยโดยใช้แรงงานตัดมาตั้งแต่ปีพ.ศ. 2550
และปัจจุบันยังใช้แรงงานในการตัดอ้อย 30 กว่าไร่มาโดยตลอด กล่าวว่า “ผมตัดอ้อยสดมาตลอด ไม่เคยเผาเลยซึ่งการตัดอ้อยสดก็ดีต่อสุขภาพของตัวเองและคนอื่นๆ ในชุมชน ราคาก็ดีกว่า แถมใบอ้อยที่เหลือในแปลงหลังจากตัดแล้ว ก็ยังช่วยรักษาหน้าดิน และเมื่อย่อยสลายแล้วก็จะกลายเป็นปุ๋ยบำรุงดินด้วย ช่วยลดต้นทุน ค่าบำรุงดินและกำจัดวัชพืชลงได้มาก หลายคนบอกว่าอ้อยสดตัดยาก แต่ผมมองว่าไม่ต่างกัน อ้อยไฟไหม้จะเหนียว มีฝุ่นฟุ้ง ไม่ได้ตัดง่าย และที่สำคัญตัดอ้อยสดหรือเผา แรงงานก็คิดราคาค่าตัดเท่ากัน แต่อ้อยที่ตัดสดจะได้ราคาดีกว่า ผมจึงอยากให้พี่น้องชาวไร่อ้อยทุกคนหันมาตัดอ้อยสดกัน เพราะดีต่อสุขภาพของทุกคนในชุมชน ทั้งยังประหยัดและได้ราคาดีกว่าด้วย”
ณัฐพงศ์ พูลเพิ่ม ชาวไร่อ้อยรุ่นใหม่ ซึ่งได้ปรับรูปแบบแปลงอ้อยกว่า 80 ไร่ของตนเพื่อให้เหมาะสมกับการเก็บเกี่ยวด้วยรถตัด เปิดเผยว่ารู้สึกภูมิใจที่ตัวเองตัดอ้อยสดมาตลอด “ผมทำไร่อ้อยมา 8 ปีแล้ว ไม่เคยเผา และได้ผลผลิตที่สดน้ำหนักดีมาตลอด ส่วนหนึ่งเป็นเพราะโรงงานที่รับซื้ออ้อยได้เข้ามาช่วยเหลือหลายๆ อย่าง ทั้งปัจจัยการผลิต การกำจัดศัตรูพืช การเก็บเกี่ยว และอุปกรณ์เครื่องจักรต่างๆ ทางโรงงานได้เข้ามาให้คำแนะนำอยู่เสมอและยังช่วยปรับแปลงอ้อยทั้งหมดของผมให้สามารถใช้รถตัดได้ ทำให้ช่วยประหยัดต้นทุน ประหยัดแรงงาน และไม่มีความจำเป็นต้องเผาไร่เพื่อเก็บเกี่ยว ปัญหาเรื่องมลพิษจากการเผาอ้อยจึงไม่มี ผมรู้สึกภูมิใจมากที่ได้ช่วยชุมชนลดมลพิษฝุ่นควัน”
ด้าน สมคิด แจ่มจำรัส ผู้จัดการอาวุโสฝ่ายไร่ โรงงานแม่สอดพลังงานสะอาด กล่าวว่า “สำหรับการส่งเสริมการปลูกอ้อยในพื้นที่อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก มีวัตถุประสงค์เพื่อใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตพลังงานทดแทน ซึ่งสอดคล้องกับแผนแม่บทการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำแม่ตาว และได้มีการจัดตั้งโรงงานผลิตเอทานอล เพื่อนำวัตถุดิบอ้อยเข้าสู่กระบวนการผลิตพลังงานทดแทนเป็นเอทานอลที่มีความบริสุทธิ์ร้อยละ 99.5
นอกจากนั้น ยังมีการผลิตไฟฟ้าจากชานอ้อย ซึ่งเป็นการนำผลพลอยได้จากการผลิตกลับมาใช้ประโยชน์อย่างคุ้มค่าในรูปแบบของเชื้อเพลิงที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยเป้าหมายในการผลิตเอทานอล ภายใต้การดำเนินงานโดยบริษัท แม่สอดพลังงานสะอาด จำกัด ปัจจุบัน มีอัตราการผลิตเอทานอล 240,000 ลิตรต่อวัน สามารถรองรับผลผลิตอ้อยในพื้นที่ได้ปริมาณ 700,000 ตันต่อปี และโรงงานฯ ได้ดำเนินการส่งเสริมการปลูกอ้อยและการตัดอ้อยสด มาตลอดระยะเวลากว่า 10 ปี ด้วยการนำเทคโนโลยีและการจัดการในไร่อ้อยมาใช้อย่างเป็นระบบให้เหมาะสมกับศักยภาพของท้องถิ่น โดยเฉพาะการส่งเสริมให้ตัดอ้อยสด อาทิ การถ่ายทอดองค์ความรู้และอบรมเรื่องประโยชน์และวิธีการตัดอ้อยสดให้กับชาวไร่ การสนับสนุนการใช้เครื่องจักรการเกษตรขนาดใหญ่เช่น รถตัดอ้อย รวมถึงการปรับรูปแบบแปลงให้เหมาะสมกับรถตัด การตรวจวัดและติดตามคุณภาพการตัดอ้อยสดในแปลง การรณรงค์ และประชาสัมพันธ์ชาวไร่เรื่องการตัดอ้อยสดร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ ระดับจังหวัดและท้องถิ่น”
ด้านสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) กระทรวงอุตสาหกรรม เป็นอีกภาคส่วนหนึ่งที่กำลังเร่งผลักดันมาตรการแก้ปัญหาการเผาอ้อยในช่วงฤดูเก็บเกี่ยว วิฤทธิ์ วิเศษสินธุ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย กล่าวว่า “เราได้มีโอกาสลงมาดูต้นแบบความสำเร็จในการลดอ้อยไฟไหม้ที่แม่สอด จะเห็นได้ว่าจากเดิมที่พื้นที่อำเภอแม่สอดเองก็มีปัญหาเรื่องการเผาอ้อยเพื่อเก็บเกี่ยว แต่วันนี้ทุกภาคส่วนสามารถจัดการแก้ไขปัญหาให้ลดลงได้แล้ว สิ่งที่เห็นได้ชัดคือความร่วมมือทั้งจากฝั่งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคสังคมและชุมชน สะท้อนให้เห็นว่าไม่มีอะไรที่เป็นไปไม่ได้หากทุกคนร่วมมือกันอย่างเข้มแข็ง แม้พื้นที่แม่สอดจะยังมีจำนวนอ้อยไม่มากนักเมื่อเปรียบเทียบกับพื้นที่อื่นๆ แต่เราเชื่อว่าเกษตรกรชาวไร่อ้อยเห็นความสำคัญร่วมกันในเรื่องการงดเผาอ้อย ส่วนหนึ่งมาจากการกระตุ้นจากทางฝ่ายโรงงาน ที่ได้ส่งเสริมความรู้ ชี้แจงถึงผลกระทบ และอีกฝ่ายหนึ่งที่สำคัญคือหน่วยงานภาครัฐ ที่ได้เข้ามากำหนดมาตรการควบคุมที่ชัดเจนและเคร่งครัด ทั้งนี้ ทางสอน. จะนำเอาแนวทางของแม่สอดโมเดลไปปรับใช้ในอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายของไทย เพื่อช่วยลดปัญหาอ้อยไฟไหม้ และสร้างความยั่งยืนให้กับพี่น้องเกษตรกรต่อไป”
จากการสร้างทัศนคติที่ดีร่วมกันของคนในพื้นที่ สู่ความร่วมมือกันอย่างเข้มแข็งของทุกภาคส่วนตั้งแต่ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคสังคมและชุมชน ส่งผลให้พื้นที่อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก มีการตัดอ้อยสดสะอาดเข้าหีบกว่า 98% สูงสุดในประเทศไทย ซึ่งช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สร้างสุขภาวะที่ดีในชุมชน และพัฒนาให้จังหวัดตากเป็นแหล่งผลิตพลังงานสะอาดของประเทศไทยอย่างยั่งยืน
ขอขอบคุณข้อมูล-ภาพ จาก MGR Online