82 / 100

ประชาสัมพันธ์  :  เลือกตั้งเทศบาล วันอาทิตย์ 28 มีนาคม 2564 

เลือกตั้งเทศบาล

ประเภทของเทศบาล

ปัจจุบันการปกครองส่วนท้องถิ่นแบบเทศบาล แบ่งออกเป็น 3 ประเภท ขึ้นอยู่กับจำนวนประชากรและรายได้ของเทศบาล ดังนี้

1. เทศบาลตำบล (ทต.) ได้แก่ ท้องถิ่นซึ่งมีประกาศกระทรวงมหาดไทยยกฐานะเป็นเทศบาลตำบล มีรายได้พอควรแก่การปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายกำหนด
2. เทศบาลเมือง (ทม.) ได้แก่ ท้องถิ่นที่เป็นที่ตั้งศาลากลางจังหวัดหรือท้องถิ่นที่มีประชากรตั้งแต่ 10,000 คนขึ้นไป มีรายได้พอควรแก่การปฏิบัติหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนด และซึ่งมีประกาศกระทรวงมหาดไทยยกฐานะเป็นเทศบาลเมือง
3. เทศบาลนคร (ทน.) ได้แก่ ท้องถิ่นที่มีประชากรตั้งแต่ 50,000 คนขึ้นไป มีรายได้พอควรแก่การปฏิบัติหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดและซึ่งมีประกาศกระทรวงมหาดไทยยกฐานะเป็นเทศบาลนคร

จำนวนสมาชิกสภาเทศบาลหรือนายกเทศมนตรี

จำนวนสมาชิกสภาเทศบาล แบ่งเป็น 3 ประเภท

1. เทศบาลนคร มี 4 เขตเลือกตั้ง มีสมาชิกสภาเทศบาลนคร ได้ เขตละ 6 คน
2. เทศบาลเมือง มี 3 เขตเลือกตั้ง มีสมาชิกสภาเทศบาลเมือง ได้ เขตละ 6 คน
3. เทศบาลตำบล มี 2 เขตเลือกตั้ง มีสมาชิกสภาเทศบาลตำบล ได้ เขตละ 6 คน
ข้อมูลจำนวนเทศบาล ณ วันที่ 9 กันยายน 2563 ถึงปัจจุบัน (ข้อมูลจากกลุ่มงานกฎหมายและระเบียบท้องถิ่น 2 กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น) เทศบาลนคร 30 แห่ง เทศบาลเมือง 195 แห่ง เทศบาลตำบล 2,247 แห่ง

จำนวนนายกเทศมนตรี

เทศบาลทุกประเภท มีนายกเทศมนตรีได้เทศบาลละ 1 คน

คุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลและนายกเทศมนตรี

พระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. 2562 มาตรา 49 และมาตรา 50 ประกอบพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. 2496 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 14) พ.ศ. 2562 มาตรา 15 และมาตรา 48 เบญจ ได้กำหนดคุณสมบัติ และลักษณะต้องห้ามของผู้สมัครรับเลือกตั้ง ดังนี้

คุณสมบัติผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง

1. มีสัญชาติไทยโดยการเกิด
2. ผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็น สมาชิ ก สภาเทศบาลต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 25 ปี นับถึงวันเลือกตั้งสำหรับ ผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นนายกเทศมนตรีต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 35 ปี นับถึงวันเลือกตั้ง
3. มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในเขตเทศบาลที่สมัครรับเลือกตั้งในวันสมัครรับเลือกตั้ง เป็นเวลา ติดต่อกันไม่น้อยกว่า 1 ปีนับถึงวันสมัครรับเลือกตั้ง
4. สำหรับผู้ที่จะสมัครรับเลือกตั้งเป็นนายกเทศมนตรี ต้องสำเร็จการศึกษาไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่า หรือเคยเป็นสมาชิกสภาท้องถิ่น ผู้บริหารท้องถิ่น หรือสมาชิกรัฐสภา
ลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้ง

1. ติดยาเสพติดให้โทษ
2. เป็นบุคคลล้มละลายหรือเคยเป็นบุคคลล้มละลายทุจริต
3. เป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใด ๆ
4. เป็นบุคคลผู้มีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิเลือกตั้งตามมาตรา 39 (1) เป็นภิกษุสามเณร นักพรตหรือนักบวช (2) อยู่ระหว่างถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งไม่ว่าคดีนั้นจะถึงที่สุดหรือไม่ และ (4) วิกลจริต หรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ
5. อยู่ระหว่างถูกระงับการใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นการชั่วคราวหรือถูกเพิกถอนสิทธิ สมัครรับเลือกตั้ง
6. ต้องคำพิพากษาให้จำคุกและถูกคุมขังอยู่โดยหมายของศาล
7. เคยได้รับโทษจำคุกโดยได้พ้นโทษมายังไม่ถึง 5 ปี นับถึงวันเลือกตั้ง เว้นแต่ในความผิดอันได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ
8. เคยถูกสั่งให้พ้นจากราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจเพราะทุจริตต่อหน้าที่หรือถือว่ากระทำการทุจริตหรือประพฤติมิชอบในวงราชการ
9. เคยต้องคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอันถึงที่สุดให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินเพราะร่ำรวยผิดปกติ หรือเคยต้องคำพิพากษาอันถึงที่สุดให้ลงโทษจำคุกเพราะกระทำความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต
10. เคยต้องคำพิพากษาอันถึงที่สุดว่ากระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการหรือต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม หรือกระทำความผิดตามกฎหมายว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ หรือความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ที่กระทำโดยทุจริตตามประมวลกฎหมายอาญา ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน กฎหมายว่าด้วยยาเสพติดในความผิดฐานเป็นผู้ผลิตนำเข้า ส่งออก หรือผู้ค้า กฎหมายว่าด้วยการพนันในความผิดฐานเป็นเจ้ามือหรือเจ้าสำนัก กฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ หรือ กฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินในความผิดฐานฟอกเงิน
11. เคยต้องคำพิพากษาอันถึงที่สุดว่ากระทำการอันเป็นการทุจริตในการเลือกตั้ง
12. เป็นข้าราชการซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำ
13. เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา สมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่น
14. เป็นพนักงานหรือลูกจ้างของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่น หรือเป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ
15. เป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ หรือผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ
16. อยู่ในระหว่างต้องห้ามมิให้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
17. เคยพ้นจากตำแหน่งเพราะศาลฎีกาหรือศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีคำพิพากษาว่าเป็นผู้มีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติ หรือกระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่หรือจงใจปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย หรือฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง
18. ต้องคำพิพากษาถึงที่สุดว่ากระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ ไม่ว่าจะได้รับโทษหรือไม่ โดยได้พ้นโทษหรือต้องคำพิพากษามายังไม่ถึง 5 ปี นับถึงวันเลือกตั้ง แล้วแต่กรณี
19. เคยถูกถอดถอนออกจากตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภาสมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่น ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย หรือกฎหมายว่าด้วยการลงคะแนนเสียงเพื่อถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น แล้วแต่กรณี มายังไม่ถึง 5 ปีนับถึงวันเลือกตั้ง
20. อยู่ในระหว่างถูกจำกัดสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น ตามมาตรา 42 หรือตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
21. เคยถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งและยังไม่พ้น 5 ปี นับแต่วันที่พ้นจากการถูกเพิกถอน สิทธิเลือกตั้งจนถึงวันเลือกตั้ง
22. เป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือรับเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภา หรือเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเดียวกันหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่น
23. เคยพ้นจากตำแหน่งใด ๆ ในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพราะเหตุมีส่วนได้เสียไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมในสัญญาหรือกิจการที่กระทำหรือจะกระทำกับหรือให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้น หรือมีส่วนได้เสียไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมในสัญญาหรือกิจการที่กระทำกับหรือจะกระทำกับหรือให้แก่ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่น โดยมีพฤติการณ์แสดงให้เห็นว่าเป็นการต่างตอบแทนหรือเอื้อประโยชน์ส่วนตน ระหว่างกัน และยังไม่พ้นห้าปีนับแต่วันที่พ้นจากตำแหน่งจนถึงวันเลือกตั้ง
24. เคยถูกสั่งให้พ้นจากตำแหน่งใด ๆ ในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพราะจงใจไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย กฎ ระเบียบของทางราชการ หรือมติคณะรัฐมนตรี อันเป็นเหตุให้เสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรงและยังไม่พ้น 5 ปี นับแต่วันที่พ้นจากตำแหน่งจนถึงวันเลือกตั้ง
25. เคยถูกสั่งให้พ้นจากตำแหน่งใด ๆ ในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพราะทอดทิ้งหรือละเลยไม่ปฏิบัติการตามหน้าที่และอำนาจ หรือปฏิบัติการไม่ชอบด้วยหน้าที่และอำนาจ หรือประพฤติตนฝ่าฝืนต่อความสงบเรียบร้อยหรือสวัสดิภาพของประชาชน หรือมีความประพฤติในทางที่จะนำมาซึ่งความเสื่อมเสียแก่ศักดิ์ตำแหน่ง หรือแก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือแก่ราชการ และยังไม่พ้น 5 ปี นับแต่วันที่พ้นจากตำแหน่งจนถึงวันเลือกตั้ง
26. ลักษณะอื่นตามที่กฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกำหนด

คุณสมบัติของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 
ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลและนายกเทศมนตรี ประชาชนจะสามารถใช้สิทธิลงคะแนนเลือกตั้งได้ต้องมีคุณสมบัติ ดังต่อไปนี้

  1. มีสัญชาติไทย แต่ถ้าแปลงสัญชาติต้องได้สัญชาติไทยมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี
  2. อายุไม่ต่ำกว่า 18 ปี ในวันเลือกตั้ง
  3. มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในเขตเลือกตั้งมาแล้วเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า 1 ปีนับถึงวันเลือกตั้ง
  4. และคุณสมบัติอื่นตามที่กฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกำหนด

ลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิเลือกตั้ง
บุคคลที่มีลักษณะดังต่อไปนี้ ในวันเลือกตั้งเป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิเลือกตั้ง

  • เป็นภิกษุ สามเณร นักพรตหรือนักบวช
  • อยู่ในระหว่างถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งไม่ว่าคดีนั้นจะถึงที่สุดแล้วหรือไม่
  • ต้องคุมขังอยู่โดยหมายของศาลหรือโดยคำสั่งที่ขอบด้วยกฎหมาย
  • วิกลจริตหรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ
  • มีลักษณะอื่นตามที่กฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกำหนด

หลักฐานที่ใช้แสดงตนในการลงคะแนนเลือกตั้ง

  • บัตรประจำตัวประชาชน (บัตรที่หมดอายุก็ใช้ได้)
  • บัตรหรือหลักฐานอื่นใดของทางราชการหรือหน่วยงานของรัฐออกให้ที่มีรูปถ่ายและมีเลขประจำตัวประชาชน เช่น
    – บัตรประจำตัวเจ้าหน้าที่ของรัฐ
    – ใบขับขี่
    – หนังสือเดินทาง (พาสปอร์ต)
    ฯลฯ

การเตรียมความพร้อมของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง
ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลและนายกเทศมนตรี ผู้มีสิทธิเลือกตั้งต้องดำเนินการเตรียมพร้อมก่อนไปใช้สิทธิ ดังนี้

1. ตรวจสอบรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง

ก่อนวันเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 25 วัน
ตรวจสอบรายชื่อได้ที่ศาลากลางจังหวัด หรือที่ว่าการอำเภอ องค์การบริหารส่วนจังหวัด ที่เลือกตั้งหรือบริเวณใกล้เคียงกับที่เลือกตั้ง
ก่อนวันเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 15 วัน
ตรวจสอบรายชื่อจากเอกสารที่แจ้งรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งมายังเจ้าบ้าน

2. การเพิ่มชื่อ – ถอนชื่อ

ก่อนวันเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 10 วัน
หากพบว่าตนเองหรือผู้มีชื่อยู่ในทะเบียนบ้านของตนไม่มีรายชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง หรือเจ้าบ้านเห็นว่ามีชื่อบุคคลอื่นอยู่ในทะเบียนบ้านของตนโดยไม่ได้อาศัยอยู่จริงให้ยื่นคำร้องต่อนายทะเบียนอำเภอหรือนายทะเบียนท้องถิ่นเพื่อขอเพิ่มชื่อ – ถอนชื่อ พร้อมนำสำเนาทะเบียนบ้านและบัตรประชาชนหรือบัตรประจำตัวอื่นใดที่ทางราชการออกให้ไปแสดงด้วย

การแจ้งเหตุที่ไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้งได้
ผู้มีสิทธิเลือกตั้งใดที่ไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้งได้ เนื่องจากมีเหตุอันสมควร ให้แจ้งเหตุที่ไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้งต่อนายทะเบียนอำเภอ หรือนายทะเบียนท้องถิ่นที่ตนมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน โดยทำเป็นหนังสือซึ่งต้องระบุเลขประจำตัวประชาชน และที่อยู่ตามหลักฐานทะเบียนบ้าน ภายใน 7 วันก่อนวันเลือกตั้ง หรือภายใน 7 วันนับแต่วันเลือกตั้ง สามารถแจ้งด้วยตัวเอง หรือมอบหมายให้ผู้อื่นไปยื่นแทน หรือจัดส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียน

เหตุจำเป็นที่ไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้งได้

  • มีกิจธุระจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องเดินทางไปพื้นที่ห่างไกล
  • เจ็บป่วยและไม่สามารถเดินทางไปใช้สิทธิเลือกตั้งได้
  • เป็นคนพิการหรือทุพพลภาพ หรือผู้สูงอายุและไม่สามารถเดินทางไปใช้สิทธิเลือกตั้งได้
  • เดินทางออกนอกราชอาณาจักร
  • มีถิ่นที่อยู่ห่างไกลจากที่เลือกตั้งเกินกว่า 100 กิโลเมตร
  • ได้รับคำสั่งจากทางราชการให้ไปปฏิบัติหน้าที่นอกเขตเลือกตั้ง
  • มีเหตุสุดวิสัยหรือเหตุอื่นที่ กกต. กำหนด

กรณีที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งได้แจ้งเหตุไว้แล้ว หากในวันเลือกตั้งเหตุดังกล่าวได้สิ้นสุดลง ผู้มีสิทธิเลือกตั้งสามารถไปใช้สิทธิเลือกตั้งที่หน่วยเลือกตั้งที่ตนมีสิทธิเลือกตั้งได้

หากไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งจะถูกจำกัดสิทธิ ดังนี้

  1. สมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. หรือ ส.ถ. หรือ ผ.ถ. หรือสมัครรับเลือกเป็น ส.ว.
  2. สมัครรับเลือกเป็นกำนันและผู้ใหญ่บ้าน
  3. เข้าชื่อร้องขอให้ถอดถอน ส.ถ. หรือ ผ.ถ.
  4. ดำรงตำแหน่งข้าราชการการเมือง และข้าราชการรัฐสภาฝ่ายการเมือง
  5. ดำรงตำแหน่งรองผู้บริหารท้องถิ่น เลขานุการผู้บริหารท้องถิ่น ผู้ช่วยเลขานุการผู้บริหารท้องถิ่น ประธานที่ปรึกษาผู้บริหารท้องถิ่น ที่ปรึกษาผู้บริหารท้องถิ่น หรือคณะที่ปรึกษาผู้บริหารท้องถิ่น
    การถูกจำกัดสิทธิ กำหนดเวลาครั้งละ 2 ปี นับแต่วันเลือกตั้ง

การอำนวยความสะดวกแก่คนพิการหรือทุพพลภาพ หรือผู้สูงอายุในการลงคะแนนเลือกตั้ง
กกต.ได้จัดให้มีการอำนวยความสะดวกในการออกเสียงลงคะแนนแก่คนพิการหรือทุพพลภาพ หรือผู้สูงอายุไว้เป็นพิเศษหรือจัดให้มีการช่วยเหลือในการออกเสียงลงคะแนนภายใต้การกำกับดูแลของ กปน.
ในการช่วยเหลือดังกล่าว ต้องให้บุคคลนั้นได้ออกเสียงลงคะแนนด้วยตนเองตามเจตนาของบุคคลนั้น เว้นแต่ลักษณะทางกายภาพ ทำให้ไม่สามารถทำเครื่องหมายลงในบัตรเลือกตั้งได้ ให้บุคคลอื่นหรือ กปน. เป็นผู้กระทำการแทน โดยความยินยอมและเป็นไปตามเจตนาของคนพิการหรือทุพพลภาพ หรือผู้สูงอายุนั้น ทั้งนี้ ให้ถือว่าเป็นการออกเสียงลงคะแนนโดยตรงและลับ

ขั้นตอนการลงคะแนนเลือกตั้ง

  1. ตรวจสอบรายชื่อ
    ตรวจสอบรายชื่อ และลำดับที่จากบัญชีรายชื่อ ที่ประกาศไว้หน้าที่เลือกตั้ง
  2. ยื่นหลักฐานแสดงตน
    แสดงหลักฐาน เช่น บัตรประจำตัวประชาชน (บัตรที่หมดอายุก็ใช้ได้) หรือ บัตรหรือหลักฐานที่ทางราชการหรือหน่วยงานของรัฐออกให้ที่มีรูปถ่ายและมีเลขประจำตัวประชาชน ต่อ กปน. พร้อมลงลายมือชื่อหรือพิมพ์ลายนิ้วหัวแม่มือในบัญชีรายชื่อ
  3. รับบัตรเลือกตั้ง
    ลงลายมือชื่อ หรือพิมพ์ลายนิ้วหัวแม่มือลงที่ต้นขั้วบัตรเลือกตั้ง รับบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ ได้แก่ บัตรเลือกตั้งนายกเทศมนตรี และบัตรเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาล
  4. ทำเครื่องหมายกากบาท
    เข้าคูหาลงคะแนนทำเครื่องหมายกากบาท (X) ลงในช่องทำเครื่องหมาย ดังนี้
    – บัตรเลือกตั้งนายกเทศมนตรี เลือกผู้สมัครได้หนึ่งคน
    – บัตรเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาล เลือกผู้สมัครสมาชิกสภาเทศบาลได้ไม่เกินจำนวนสมาชิกที่
    แต่ละเขตเลือกตั้งนั้นพึงมี  หากไม่ต้องการเลือกผู้สมัครผู้ใด ให้ทำเครื่องหมายกากบาท (X) ในช่องไม่เลือกผู้สมัครผู้ใด แล้วพับบัตรเลือกตั้ง
  5. หย่อนบัตรเลือกตั้งด้วยตัวเอง
    นำบัตรเลือกตั้งที่พับเรียบร้อยแล้วหย่อนใส่ลงในหีบบัตรเลือกตั้งด้วยตนเอง

เวลาลงคะแนนเลือกตั้ง
ตั้งแต่เวลา 08.00 น. – 17.00 น.

ขอขอบคุณข้อมูล : เทศบาลนครแม่สอด, ข่าวแม่สอด, กกต.