ข่าวไอที : เทคโนโลยีเริ่มป่วนค้าปลีก-ส่ง หากรถยนต์ไฟฟ้ามาส่อตกงาน 2 แสนคน
สภาองค์การนายจ้างฯ เผยปี 2562 การจ้างงานในโรงงานภาคการผลิตอุตสาหกรรมยังคงมีเพิ่มขึ้นจากปัจจุบันที่มีการจ้างงานอยู่ระดับ 6.2-6.3 ล้านคน หลังพบสัญญาณการใช้อัตรากำลังการผลิตปี 61 สูงสุดรอบ 5 ปีและการนำเข้าสินค้ากึ่งสำเร็จรูปพุ่งสูง ขณะที่ Disruptive Technology ยังไม่กระทบภาคการผลิตแต่เริ่มกระทบชัดเจนต่อภาคการบริการอย่าง ธนาคาร อีคอมเมิร์ซเริ่มกระทบค้าปลีก-ส่ง คาดว่าอีก 2-3 ปีข้างหน้าจะรุนแรง ขณะที่ต้องเกาะติดใกล้ชิดคืออุตสาหกรรมยานยนต์ หากก้าวสู่รถยนต์ไฟฟ้าเต็มพิกัดจะกระทบแรงงานสูงถึงกว่า 2 แสนคน
นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย เปิดเผยว่า แนวโน้มการจ้างงานของไทยในปี 2562 ในส่วนของแรงงานในภาคอุตสาหกรรมการผลิตซึ่งทั่วประเทศมีประมาณ 1.39 แสนกิจการมีการจ้างงานจำนวน 6.2-6.3 ล้านคน คาดว่าจะยังคงมีความต้องการแรงงานเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งมาจากปัจจัยการนำเข้าสินค้ากึ่งสำเร็จรูปในปี 2561 มีการขยายตัวกว่า 12% ขณะที่อัตราการใช้กำลังการผลิตของภาคอุตสาหกรรมปี 2561 เฉลี่ยอยู่ที่ 68.61% ซึ่งเป็นอัตราการใช้กำลังการผลิตเติบโตสูงสุดในรอบ 5 ปี จึงทำให้ภาคการผลิตยังมีความต้องการแรงงานทั้งที่มีทักษะและกึ่งไร้ทักษะโดยเฉพาะแรงงานสายเทคนิค ประกอบกับคนรุ่นใหม่ไม่ชอบทำงานในภาคอุตสาหกรรม
“แม้ว่าบางคลัสเตอร์จะมีการใช้เทคโนโลยีขั้นสูงทั้งระบบหุ่นยนต์ แขนกลอัตโนมัติมาใช้ทดแทนแรงงานคนแต่ก็ยังคงเป็นช่วงเริ่มต้นเท่านั้นยังไม่ส่งผลอย่างมีนัยสำคัญ ประกอบกับภาวะสงครามทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนทำให้กระแสการลงทุนบางส่วนไหลออกจากจีนเพื่อกระจายความเสี่ยงมาลงทุนในภูมิภาคอาเซียน และไทยเป็นหนึ่งในประเทศเป้าหมาย ขณะที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(อีอีซี) แม้ภาพจะยังไม่ชัดเจนนักถึงการจ้างแรงงานในเชิงปริมาณแต่ก็ยังเป็นปัจจัยบวกต่อการจ้างงานในอนาคต” นายธนิตกล่าว
สำหรับการเข้ามาของเทคโนโลยีหุ่นยนต์และออโตเมชัน ซึ่งหลายคนกังวลถึง Disruptive Technology ที่จะมีผลต่อการจ้างงานลดลงนั้น ที่เห็นชัดเจนจะเป็นในภาคการบริการที่เริ่มนำมาใช้ เช่น การนำระบบดิจิทัลมาใช้บริการผ่านแอปพลิเคชันของธนาคารพาณิชย์ ส่งผลให้มีการทยอยปิดสาขาลงทำให้การจ้างงานในส่วนนี้ในปัจจุบันและอนาคตจะลดลงต่อเนื่อง ขณะที่ธุรกิจการค้าออนไลน์ (อีคอมเมิร์ซ) เริ่มมีผลกระทบต่อการจ้างงานในคลัสเตอร์ค้าส่งและค้าปลีก และอาจเห็นผลที่ชัดเจนในอีก 2-3 ปีข้างหน้าซึ่งจำเป็นที่ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องต้องปรับตัวรองรับ
ทั้งนี้ สิ่งที่ต้องติดตามใกล้ชิดคืออุตสาหกรรมยานยนต์ซึ่งเป็นคลัสเตอร์อุตสาหกรรมที่มีสัดส่วน 1 ใน 6 ของอุตสาหกรรมทั้งประเทศที่โลกกำลังเข้าสู่เทคโนโลยีรถยนต์ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า (EV) ในอนาคตอันใกล้ และอาจทำให้มีราคาที่ต่ำลงซึ่งจะมีผลให้บริษัทและธุรกิจต่างๆ ในห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมยานยนต์จำนวนใกล้เคียงหลักพันหายไปและอาจมีความเสี่ยต่อแรงงานสูงถึง 2-2.5 แสนคน
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการจ้างงานในภาคการผลิตอุตสาหกรรมปี 2562 จะยังมีทิศทางที่เพิ่มขึ้น แต่ยังคงต้องติดตามภาวะเศรษฐกิจของไทยที่ยังคงมีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตามทั้งจากปัจจัยภายนอกและปัจจัยภายใน โดยปัจจัยภายนอกที่ต้องติดตามภาวะสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนจะลุกลามขยายตัวไปยังการผลิตทั่วโลกหรือไม่ กรณีที่อังกฤษยังไม่บรรลุข้อตกลง “ซอฟต์เบร็กซิต” ในการออกจากอียูซึ่งอาจนําไปสู่วิกฤตการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งปัจจัยเหล่านี้จะทำให้เศรษฐกิจโลกเข้าสู่สภาวะชะลอตัวและอาจกระทบต่อการส่งออกไทยที่เติบโตลดลงจากปี 2561 แต่กระนั้นก็ยังไม่มีผลกระทบต่อการจ้างงานอย่างมีนัยสำคัญ
ส่วนปัจจัยภายในประเทศเกี่ยวข้องกับรัฐบาลหลังเลือกตั้งว่าจะมีความต่อเนื่องด้านนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจหรือไม่ ซึ่งปี 2561 งบลงทุนของรัฐมีถึง 8 แสนล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นโครงการขนาดใหญ่ด้านโครงสร้างพื้นฐานหรือเมกะโปรเจกต์ ขณะเดียวกันงบประชารัฐผ่านโครงการสวัสดิการของรัฐที่คาดว่ามีเม็ดเงินประมาณ 8.69 หมื่นล้านบาทยังไม่รวมโครงการบ้านหลังละหนึ่งล้านบาทซึ่งจะก่อให้เกิดการสร้างงานตามมา ขณะที่ตัวเลขการลงทุนผ่านบีโอไอ (BOI) ปี 2561 มีมูลค่า 5.02 แสนล้านบาท ปัจจัยดังกล่าวมีส่วนทําให้แนวโน้มอัตราเร่งการปรับค่าจ้างอาจไม่หวือหวา
ขอขอบคุณข้อมูล-ภาพ จาก MGR Online