ข่าวทั่วไป  :  เจ้าหนี้พึงระวัง ทวงหนี้ผ่าน Facebook เสี่ยงถูกจับ และปรับได้ 

         กลายเป็นประเด็นร้อนขึ้นมา ถึงกรณีที่มีผู้ใช้เฟซบุ๊กคนหนึ่ง เล่าเหตุการณ์ที่ตนค้างชำระหนี้กับโรงพิมพ์แห่งหนึ่ง ในปี พ.ศ. 2552 เป็นจำนวนเงิน 38,400 บาท มีการผัดผ่อนกับเจ้าหนี้เป็นประจำ แต่ใน พ.ศ 2554 ตนถูกเจ้าหนี้ทวงหนี้ในเชิงประจาน ผ่านหน้าไทม์ไลน์เฟซบุ๊กของตน มีคนเข้าแสดงความคิดเห็น ทำให้ตนเองเกิดความอับอาย แบบนี้ลูกหนี้สามารถฟ้องหมิ่นประมาทแก่เจ้าหนี้ได้หรือไม่?

          ทางด้านเฟซบุ๊กแฟนเพจ “ทนายคู่ใจ” เพจดังเกี่ยวกับความรู้ด้านกฎหมายในโลกออนไลน์ ที่มีผู้กดไลค์กว่า 35,000 คน ได้ออกมาอธิบายถึงกรณีดังกล่าวว่า การทวงหนี้ผ่านเฟซบุ๊ก หรือไลน์ หรืออินสตาแกรม ซึ่งเป็นกระดาษออนไลน์สาธารณะ ทำให้บุคคลทั่วไปสามารถเข้ามาอ่านหรือแสดงความคิดเห็นได้นั้น ถึงไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาท แต่ก็ผิดฐานทวงหนี้ผิดวิธีอยู่ดี

         “การทวงหนี้ไม่ผิดตามแนวฎีกา 1739/2523 แต่ผิด พ.ร.บ.การทวงถามหนี้อยู่ดี มาตรา 11(3) แจ้งหรือเปิดเผยเกี่ยวกับการเป็นหนี้ของลูกหนี้ต่อบุคคลภายนอก โทษจำคุก 1 ปีหรือปรับ 1 แสนบาท นั้นคือสมัยก่อนที่ พ.ร.บ.ทวงถามหนี้จะใช้บังคับในปี 2558 การโพสต์ข้อความทวงหนี้ยังสามารถทำได้ แต่หลังจากนี้ทำไม่ได้นะครับ เพราะผิดกฎหมายแถมยอมความไม่ได้ด้วย จะทวงหนี้ถามทนายก่อนดีที่สุด”

         ทั้งนี้ พ.ร.บ.การทวงถามหนี้ 2558 ระบุข้อห้ามให้ผู้ทวงถามหนี้ปฏิบัติไว้ดังนี้ คือ “ห้ามผู้ติดตามหนี้ติดต่อบุคคลอื่น ที่ไม่ใช่ลูกหนี้ เว้นแต่การสอบถามข้อมูลสถานที่ติดต่อลูกหนี้ , ห้ามไม่ให้ผู้ติดตามหนี้ กระทำการที่เป็นการละเมิด และคุกคาม ในการติดตามทวงถามหนี้ เช่น ใช้ความรุนแรง ใช้คำพูด หรือภาษาดูหมิ่น ถากถาง เสียดสี หรือการเปิดเผยความเป็นหนี้ลูกหนี้แก่ผู้อื่นที่ไม่เกี่ยวข้อง , ห้ามติดตามทวงหนี้เกินสมควรแก่เหตุ รวมถึงการติดต่อทางโทรศัพท์วันละหลายครั้ง และก่อให้เกิดความเดือดร้อน รำคาญ , ห้ามผู้ติดตามหนี้กระทำการในลักษณะที่เป็นเท็จ หรือทำให้เกิดความเข้าใจผิดในการติดตามทวงหนี้ และสุดท้าย ห้ามไม่ให้ผู้ติดตามหนี้ ติดตามทวงถามหนี้ในลักษณะที่ไม่เป็นธรรม สำหรับการติดต่อลูกหนี้ทางโทรศัพท์ โทรสาร หรือติดต่อบุคคล สำหรับวันทำการให้ติดต่อได้ในเวลา 08.00-20.00 น. ส่วนวันหยุดราชการติดต่อได้ในเวลา 08.00-18.00 น. เว้นแต่ได้ตกลงกันเป็นลายลักษณ์อักษร”

          ทางเพจกูรูกฎหมายรายเดิม ยังได้มีการชี้แจงเพิ่มเติมว่า ในกรณีที่มีการคุยกันเป็นส่วนตัวอย่างในโปรแกรมไลน์ ยังสามารถทำได้ตามปกติ เจตนารมณ์ของกฎหมายคือ ต้องการป้องกันความอับอายของลูกหนี้ต่อบุคคลภายนอก หากจะโพสต์ทวงถามลงสื่อสาธารณะอะไรก็ตาม นอกจากการคุยแบบส่วนตัว ยังไงเจ้าหนี้ก็มีความผิด

         งานนี้ มีคนเข้ามาแสดงความคิดเห็นมากมาย ส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับ พ.ร.บ.การทวงถามหนี้ดังกล่าว พร้อมกับให้เหตุผลว่า เจ้าหนี้ทวงหนี้แต่กลับเสี่ยงติดคุก ส่วนลูกหนี้ก็หายเข้ากลีบเมฆ หากจะมีการฟ้องร้องให้ลูกหนี้คืนเงิน ก็ต้องเสียทั้งเงินค่าทนาย เสียทั้งเวลา ฟ้องแล้วจะได้เงินคืนหรือไม่ ก็ไม่สามารถมีใครมาการันตีได้ หลายคนตั้งคำถามกลับอีกว่า เพราะเหตุใด พ.ร.บ. ทวงถามหนี้นี้ถึงเอื้อประโยชน์ให้กับลูกหนี้มากขนาดนี้ และเรียกร้องให้มีกฎหมายคุ้มครองเจ้าหนี้บ้าง

         เจ้าหนี้บางคนยังได้เล่าประสบการณ์ที่ตนเองพบเจอมา ว่าลูกหนี้นั้นมีวิธีหลบเลี่ยงการคืนเงินหลายรูปแบบ เช่น การปิดทุกช่องทางการสื่อสารเพื่อให้เจ้าหนี้ไม่สามารถติดต่อได้ หรือพอติดต่อได้ก็จะอ้างว่ายังไม่มีเงิน บางคนเจอลูกหนี้หน้าไม่อาย ใช้ชีวิตตามปกติ พร้อมกับอัปเดตไลฟ์สไตล์สุดหรูผ่านเฟซบุ๊กไปอีก จนเจ้าหนี้ออกปาก ทวงจนตัวเองรู้สึกละอายกว่าลูกหนี้แล้ว! สุดท้ายก็ได้แต่ทำใจที่ไม่สามารถทำอะไรได้ บางคนแนะนำทางออกที่ดีที่สุดคือการไม่ให้ยืมเงิน

         เจ้าหนี้ – ลูกหนี้ เป็นเรื่องที่เราพบเจอในทุกสังคม นอกจากปัญหาทางฝั่งลูกหนี้ไม่คืนเงินแล้ว ยังมีกรณีการกู้เงินนอกระบบ ที่บางรายเจอเจ้าหนี้สุดโหด นอกจากจะคิดดอกเบี้ยสูงกว่ากฎหมายกำหนดแล้ว หากผู้กู้ไม่ได้คืนตามกำหนดเวลา ก็จะมีการตามมาทวงถึงบ้านบ้าง ยึดทรัพย์สินบ้าง บางรายโดนทำร้ายร่างกาย หนักสุดถึงขั้นเสียชีวิตก็มี ถึงแม้เจ้าหน้าที่จะกวาดล้างขนาดไหน ปัญหาเจ้าหนี้เงินกู้นอกระบบก็ยังไม่หมดไปอยู่ดี ทางที่ดีคือการไม่ยืมเงินใคร หรือหากจำเป็นต้องหยิบยืมเงินจริงๆ นั้น ลูกหนี้ก็ควรมีวินัยในการคืนเงิน เพื่อความสบายใจทั้งสองฝ่าย และไม่เกิดปัญหาตามมาภายหลัง

 

ข่าวโดย : ผู้จัดการ Live
ขอบคุณภาพ : horoscope และ pantip.com

ขอขอบคุณข้อมูล :  Manager.co.th