บทความสุขภาพ-ความงาม  :  เครื่องสำอางออนไลน์ ภัยเงียบของพวกเหล่านักช้อปออนไลน์

         นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า ปัจจุบันพบการโฆษณาขายสินค้าเครื่องสำอางทางสื่อออนไลน์จำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นทางเฟซบุ๊ก อินสตาแกรม หรือไลน์ โดยโฆษณาว่าผ่านการรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ซึ่งไม่ใช่ความจริง เพราะการโฆษณาเครื่องสำอาง ไม่ต้องขออนุญาตก่อนการโฆษณา แต่เป็นการที่ผู้ประกอบธุรกิจเครื่องสำอางมายื่นคำขอจดแจ้งผลิตภัณฑ์เป็นเครื่องสำอาง เมื่อได้รับใบรับแจ้งแล้ว มีการนำเลขที่ใบรับจดแจ้งไปโฆษณาขายสินค้าทางสื่อออนไลน์ ทั้งนี้ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ในฐานะผู้กำกับดูแลผลิตภัณฑ์สุขภาพเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค ได้มีการตรวจสอบเฝ้าระวังผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางทางสื่อออนไลน์อย่างต่อเนื่อง ซึ่งพบว่ามีผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางหลายรายการที่โฆษณาแสดงสรรพคุณเกินกว่าการเป็นเครื่องสำอาง เช่น แสดงสรรพคุณบำบัด บรรเทา รักษาโรค เช่น เคล็ดขัดยอก หรือในลักษณะบำรุงทางเพศ เช่น ขยายขนาดอวัยวะเพศชาย กระชับช่องคลอด หรือแสดงสรรพคุณรักษาอาการผมร่วง ศีรษะล้าน ในบางครั้งโฆษณาแสดงวัตถุประสงค์ การใช้ไม่ตรงกับที่จดแจ้งไว้ต่อ อย.

        “ยกตัวอย่าง ขอจดแจ้งเป็นผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดผิวกาย แต่โฆษณาว่าสามารถเพิ่มขนาดอวัยวะเพศ หรือการโฆษณาว่าเป็นน้ำหอมสำหรับจุดซ่อนเร้น ช่วยยับยั้งแบคทีเรีย เป็นต้น ซึ่งการโฆษณาในลักษณะดังกล่าว อาจทำให้ผู้บริโภคเข้าใจผิด หากนำไปใช้อาจไม่ได้ผลและยังอาจก่อให้เกิดอันตรายได้ ซึ่งทาง อย.ได้ดำเนินคดีไปหลายรายแล้ว โดยผู้กระทำผิดต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปีปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ” นพ.ไพศาล กล่าว

         นพ.ไพศาล กล่าวอีกว่า อย. ขอเตือนผู้บริโภคในการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง ขอให้มีวิจารณญาณในการเลือกซื้อ อย่าตกเป็นเหยื่อหลงเชื่อคำโฆษณาเครื่องสำอางที่อวดอ้างสรรพคุณเกินจริง เพราะเครื่องสำอางไม่สามารถบำบัด บรรเทา รักษาโรคได้ ควรซื้อเครื่องสำอางจากร้านค้าที่มีหลักแหล่งแน่นอน เชื่อถือได้ เพราะหากเกิดปัญหาจะได้สามารถติดต่อผู้รับผิดชอบได้ ให้เลือกซื้อเครื่องสำอางที่มีฉลากภาษาไทย ที่มองเห็นและอ่านได้ชัดเจน โดยอย่างน้อยต้องระบุข้อความ ดังนี้ เลขที่ใบรับแจ้ง 10 หลัก ชื่อเครื่องสำอาง ชื่อทางการค้า ซึ่งต้องมีขนาดใหญ่กว่าข้อความอื่น ประเภทหรือชนิดของเครื่องสำอาง ชื่อของสารทุกชนิดที่เป็นส่วนผสม วิธีใช้เครื่องสำอาง ชื่อและที่ตั้งผู้ผลิต/นำเข้า ปริมาณสุทธิ เลขที่แสดงครั้งที่ผลิต เดือน ปี ที่ผลิตหรือหมดอายุ และที่สำคัญหลังจากใช้ผลิตภัณฑ์หมดแล้ว ทั้งนี้ หากพบการโฆษณาเครื่องสำอางโอ้อวดเกินจริง สามารถร้องเรียนมาได้ที่ โทรสายด่วน อย. 1556 หรือผ่านทาง Oryor Smart Application หรือที่ Email : 1556@fda.moph.go.th

 

ขอขอบคุณข้อมูลและรูปภาพ  :  thaihealth.or.th