ข่าวทั่วไป : อย. สหรัฐอเมริกา สั่งห้ามนำเข้าน้ำปลาไทย หวั่นมีสารก่อมะเร็ง
อย. สหรัฐอเมริกา สั่งห้ามนำเข้าน้ำปลาไทย เหตุอยากให้ตรวจสอบจริงจังว่าไม่มีสารก่อมะเร็ง ทำร้านอาหารไทยในสหรัฐฯ เดือดร้อนหนัก หันใช้น้ำเกลือแทนไปก่อน
วันที่ 23 ตุลาคม 2561 มีรายงานว่า นายนพดล ทองมี ผู้อำนวยการกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ หรือ สคร. ประจำนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา เปิดเผยว่า ขณะนี้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาสหรัฐฯ (FDA) ออกประกาศคำสั่ง ห้ามนำเข้าน้ำปลาจากประเทศไทย โดยให้เหตุผลว่าต้องการให้ดำเนินการตรวจสอบสารปนเปื้อนจากการหมักน้ำปลา ว่าไม่มีส่วนผสมของสารก่อมะเร็ง ที่อาจปะปนอยู่ในส่วนของลำไส้ของปลา เนื่องจากในกระบวนการผลิตน้ำปลานั้น เป็นการใช้ปลาตัวเล็กที่ไม่สามารถชำแหละเอาไส้ปลาออกได้
นายนพดล เปิดเผยว่า ตั้งแต่เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม ที่ผ่านมา ทางองค์การอาหารและยาของสหรัฐฯ จัดให้บริษัท โรงงานน้ำปลาไทย (ตราปลาหมึก) จํากัด เข้าไปอยู่ในบัญชี Import Alert และกักสินค้าจากการนําเข้า เนื่องจากพบว่าละเมิดกฎระเบียบสําหรับสินค้าอาหารทะเล โดยระบุว่ากระบวนการผลิตน้ำปลาอาจจะก่อให้เกิดสาร Histamine ซึ่งเป็นสารที่ก่อให้เกิดอาการแพ้อาหาร และสารพิษจากเชื้อแบคทีเรียคลอสทริเดียม โบทูลินัม (clostridium botulinum) ซึ่งจะเกิดในกระบวนการแปรรูปอาหารซึ่งเป็นอันตรายต่อผู้บริโภค
ทั้งนี้ ทาง อย. สหรัฐฯ ได้มีการสุ่มตรวจว่าน้ำปลามีสารทำให้เกิดมะเร็ง ต้องมีการพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ หรือต้องเอาไปต้มให้สุกก่อน ซึ่งประเด็นนี้ทางผู้ประกอบการที่ไทยมองว่าไม่ใช่เรื่องใหญ่ แต่ทางกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เป็นห่วงว่าอาจจะส่งผลต่อร้านอาหารไทยในสหรัฐฯ ที่มีอยู่ประมาณ 5,000 กว่าร้าน รวมถึงร้านอาหารเอเชียจากทั้งกัมพูชา และเวียดนาม ที่ต่างก็จำเป็นต้องบริโภคน้ำปลา ทำให้ในตอนนี้ร้านอาหารหลายแห่งหันไปใช้เกลือแทน แต่ก็พบปัญหาในเรื่องของรสชาติ โดยท้ายที่สุดกลัวว่าจะเกิดปัญหาคล้ายซอสศรีราชาที่เสียโอกาสการส่งออกในตลาดนี้ไปเลย
โดยจากการตรวจสอบ Import Alert ข้างต้นพบว่ามีบริษัทผู้ส่งออกน้ำปลาไทย ได้แก่
1. Saigon International (2004) จ.ราชบุรี
2. Tang Sang Hah จ.สมุทรปราการ (ทิพรส) โดนครั้งแรก วันที่ 21 เมษายน 2557 ครั้งที่ 2 วันที่ 20 พฤษภาคม 2557
3. Thai Fishsauce Factory (Squid Brand) Co., Ltd. (ตราปลาหมึก) โดนเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2561
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของแนวทางการแก้ไขปัญหานี้ คาดว่ามี 2 แนวทาง คือ ปรับกระบวนการผลิตให้มีขั้นตอนการผ่านความร้อนตามที่ USFDA แนะนำ หรือนำเสนอข้อมูลหลักฐานผลการศึกษาในเชิงวิทยาศาสตร์ มายืนยันว่ากระบวนการหมักน้ำปลามีการควบคุมที่เทียบเท่าเพื่อป้องกันการเกิดสารพิษดังกล่าว
ขอขอบคุณข้อมูลและรูปภาพ : kapook.com, workpoint