ข่าวตาก : สสจ.ตากพบป่วยโรคมือเท้าปากกว่า 300 สั่งดูแลเด็กหลังตายแล้ว 1 ราย
สาธารณสุขจังหวัดตากเผยตัวเลขผู้ป่วยมือเท้าปากตั้งแต่ต้นปีมีป่วยแล้วกว่า 300 คน มีเด็กน้อยอายุ 3 ขวบเสียชีวิตเป็นรายแรกระบุโรคนี้หายได้เองภายใน 7 วันเว้นผู้ป่วยที่ภูมิต้านทานต่ำเตือนผู้ปกครองให้ดูแลเด็กเล็กอย่างใกล้ชิด
หลังจากเกิดการแพร่ระบาดของโรคมือเท้าปากในพื้นที่อ.บ้านตากจนทำให้ เด็กหญิง กัญธีร์รา ปัญญา หรือน้องน้ำเหนือ อายุ 3 ขวบ 2 เดือน เด็กนักเรียนศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก อบต.ท้องฟ้า อ.บ้านตาก จ.ตาก เสียชีวิต เมื่อวันที่ 2 กันยายน 2560 ที่ผ่านมา โดยทาง อบต.ท้องฟ้า ได้สั่งให้ปิดการเรียนการสอน 2 สัปดาห์ เพื่อควบคุมโรคระบาดไม่ให้เกิดการแพร่กระจาย
ล่าสุด วันที่ 4 ก.ย. นายอรรถวุฒิ พึ่งเนียม นายอำเภอบ้านตาก ได้ประชุมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งสาธารณสุขจังหวัดตาก , สาธารณสุขอำเภอบ้านตาก , องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ,กำนันผู้ใหญ่บ้าน และ ผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาเด็กเล็กทุกแห่ง เพื่อวางมาตรการป้องกัน ไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคขึ้นอีก โดยสั่งให้กำนันผู้ใหญ่บ้าน ดูแลประชาชนในพื้นที่ เน้นที่เด็กเล็ก อายุต่ำกว่า 10 ปี ทุกคน ที่เริ่มป่วยแสดงอาการไข้ ตัวร้อน ให้รีบแจ้งและพาไปพบแพทย์อย่ารักษาอาการด้วยตนเอง พร้อมใช้มาตรการ “กินร้อนช้อนกลาง ล้างมือทุกครั้ง” ให้เฝ้าติดตามดูแลประชาชนในพื้นที่อย่างใกล้ชิด
ด้านนายแพทย์ อดิสรณ์ วรรธนะศักดิ์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดตาก เปิดเผยว่า จากการรายงาน โรคระบาดวิทยา พบว่า ในพื้นที่จังหวัดตาก ทั้ง 9 อำเภอ มีผู้ป่วย เป็นเด็ก อายุ ระหว่าง 1-10 ปี ป่วยด้วยโรคมือเท้าปาก ระหว่างวันที่ 1 มกราคม – 31 สิงหาคม 2560 จำนวน 359 คน เป็นชาย 191 คน หญิง 168 คน แต่ยังไม่มีผู้เสียชีวิต แต่ กรณีของ เด็กหญิง กัญธีร์รา ปัญญา หรือน้องน้ำเหนือ ที่เข้ารับการรักษาด้วยโรคมือเท้าปาก และเสียชีวิตนั้น อยู่ระหว่างการส่งตัวอย่างเลือด ตรวจเชื้อ ที่ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ จ.พิษณุโลก
และยังอยู่ระหว่างการรอผลทางวิชาการ ว่า เกิดจากไวรัส เทอโรไวรัส หรือไม่ ส่วนพื้นที่ๆมีการระบาดค่อนข้างรุนแรงและต้องเฝ้าระวัง ได้แก่ อำเภอบ้านตาก และ อำเภอสามเงา โดยสั่งการให้สาธารณสุขอำเภอตรวจสอบโดยกักบริเวณผู้ป่วย ไม่ให้เล่นปะปนกับเด็กๆ ที่ยังไม่มีอาการป่วย เพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อโรคไปแพร่ระบาดสู่ชุมชน
นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดตาก กล่าวอีกว่า เชื้อโรคมือเท้าปาก ที่พบการแพร่ระบาดในพื้นที่ จังหวัดตาก เป็นเชื้อที่ไม่รุนแรง ผู้ป่วยสามารถหายเองได้ในระยะ เวลาประมาณ 7-10 วัน แต่ก็อาจจะมีผู้ป่วยบางราย ที่อาจมีภูมิต้านทานโรคต่ำ หรือภาวะโรคแทรกซ้อน ทำให้เสี่ยงต่อภาวะติดเชื้อ หรือ การแสดงของโรครุนแรง ถึงขั้นเสียชีวิตได้ แต่ก็ยังพบผู้เสียชีวิตน้อย เทียบกับไข้เลือดออก มีผู้เสียชีวิตมากกว่าโรคมือเท้าปาก
นายแพทย์ อดิสรณ์ กล่าวอีกว่า ผู้ปกครอง ต้องคอยดูแลลูกหลานอย่างใกล้ชิด หากพบมีอาการ ปวดหัวตัวร้อน มีไข้ขึ้นสูง และที่มือเท้าและกระพุ้งแก้ม มีตุ่มใส ขึ้น ให้รีบไปพบแพทย์ใกล้บ้านโดยด่วน อย่าทำการรักษาเอง เพราะอาจจะทำให้โรครุนแรง หรือแพร่กระจายไปยังผู้อื่นได้ ควรให้ลูกหลานที่ป่วยอยู่ภายในบ้านไม่ไปเล่น กับเด็กอื่น ที่ไม่ได้รับเชื้อ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดสู่ชุมชน
ขอขอบคุณข้อมูล-ภาพ จาก MGROnline