ข่าวทั่วไป : ศาลเผยสถิติคดีจราจร ส่งท้ายปีใหม่ 7 วันอันตราย เมาแล้วขับสูงสุด19,603ข้อหา
โฆษกศาลยุติธรรม สรุปสถิติส่งท้ายปีใหม่ 7 วันอันตราย คดีจราจรขึ้นศาล เข้าสู่การพิจารณาทั้งหมด รวม 21,238 ข้อหา ขับรถขณะเมาสุราสูงสุด 19,603 สะท้อนเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฏหมายเข้มข้น (MGR online)
วันนี้ (3 ม.ค.) นายสุริยัณห์ หงษ์วิไล โฆษกศาลยุติธรรม เปิดเผยถึงสถิติดำเนินคดี ความผิดพ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 ช่วง 7 วันอันตราย วันหยุดเทศกาลปีใหม่ 2562 ตั้งแต่วันที่ 27 ธ.ค.2561 – 2 ม.ค.2562 ว่า ปริมาณความผิด ตาม พ.ร.บ.จราจรทางบกฯ ที่เข้าสู่การพิจารณาพิพากษาของศาลชั้นต้นทั่วประเทศ 232 ศาล ช่วง 7 วันที่ผ่านมา ที่รวบรวมข้อมูลโดย “ศูนย์ข้อมูลคดี สำนักแผนงานและงบประมาณ” สำนักงานศาลยุติธรรมนั้น
มีข้อหาที่เข้าสู่การพิจารณาทั้งหมด รวม 21,238 ข้อหา ซึ่งศาลพิจารณาพิพากษาเสร็จ 19,888 ข้อหา คิดเป็น 93.64 %
โดยข้อหาที่มีการกระทำผิดสูงสุด 3 อันดับ ได้แก่
1.ขับรถขณะเมาสุรา 19,603 ข้อหา
2.ขับรถโดยไม่มีใบอนุญาต 933 ข้อหา
3.ขับรถขณะเสพยาเสพติด 598 ข้อหา
ส่วนจังหวัดที่มีปริมาณคดีขึ้นสู่การพิจารณาสูงสุด 5 อันดับ ได้แก่
1.นครราชสีมา 1,197 ข้อหา
2.ชลบุรี 1,050 ข้อหา
3.กรุงเทพมหานคร 1,046 ข้อหา
4.เชียงใหม่ 927 ข้อหา
5.ร้อยเอ็ด 850 ข้อหา
ทั้งนี้ปริมาณคดีข้อหาความผิด ตาม พ.ร.บ.จราจรทางบกฯ ที่เข้าสู่การพิจารณาของศาล เฉพาะประจำวันที่ 31 ธ.ค.2561 ถือว่าสูงที่สุดในช่วง 7 วันอันตราย มีถึง 7,390 ข้อหา โดยข้อหาที่มีการกระทำผิดสูงสุด คือ ขับรถขณะเมาสุรา 7,048 ข้อหา ก็น่าสังเกตุว่าในวันดังกล่าวที่มีปริมาณคดีสูงอาจสืบเนื่องการเฉลิมฉลองส่งท้ายปีด้วย ขณะที่ช่วงก่อนหน้านั้น เป็นช่วงของการเดินทางเพื่อไปเฉลิมฉลองเทศกาล
ขณะที่ “นายสุริยัณห์” ได้เปรียบเทียบตัวเลขคดีความผิด พ.ร.บ.จราจรทางบกฯ ช่วง 7 วันอันตรายที่เข้าสู่ศาล ในปี 2561 กับปีใหม่ 2562 นี้ ด้วยว่า ในปี 2561 มีคดีเข้าสู่ศาลรวมทั้งสิ้น 15,587 ข้อหา ขณะที่ 2562 มีคดีรวม 21,238 ข้อหา ปีนี้มีการดำเนินคดีสูงขึ้นถึง 5,651 ข้อหา หากมองในแง่การบังคับใช้กฎหมายนั้นเข้มข้นขึ้นจากนโยบายและมาตรการต่างๆ ของรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการตรวจตราดูแลความปลอดภัยบนท้องถนนจนนำมาสู่การดำเนินคดีที่ศาล ซึ่งการลงโทษนั้นศาลก็จะพิจารณาตามพฤติการณ์และข้อเท็จจริงที่ปรากฏในแต่ละสำนวนตามกรอบของกฏหมาย ส่วนความผิดข้อหา”เมาแล้วขับ”ที่ปริมาณการดำเนินคดีสูงสุดนั้นยังสะท้อนถึงการละเลย เพิกเฉยของผู้ขับขี่ที่ทำผิดกฎหมายและไม่ดูแลความปลอดภัยของตนเองและผู้อื่นที่ร่วมใช้เส้นทางสัญจร ดังนั้นจึงควรตระหนักถึงเรื่องนี้ด้วย
ขอขอบคุณข้อมูล-ภาพ จาก MGR Online