สุขภาพ : รากอังกาบหนูทำสเปิร์มลดเตือนกินพอเหมาะ แพทย์แผนไทยเก็บข้อมูลวิจัยรักษามะเร็ง
แพทย์แผนไทยเผยยังไม่มีวิจัย “อังกาบหนู” ช่วยรักษามะเร็ง เตรียมเก็บข้อมูลเพิ่มหาทางต่อยอดวิจัย ชี้ วิจัย “สมุนไพร” รักษามะเร็ง มีทั้งหาสารสำคัญฆ่าเซลล์มะเร็ง และดูจากตำรับยาโบราณรักษาอาการคล้ายมะเร็ง จึงพัฒนาต่อยอด เตือนอังกาบหนูต้องกินพอเหมาะ ระวังรากมีการศึกษาทำสเปิร์มลด เสี่ยงเป็นหมันได้
วันนี้ (23 ส.ค.) นพ.ขวัญชัย วิศิษฐานนท์ ผู้อำนวยการสถาบันการแพทย์แผนไทย กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก แถลงข่าวสรรพคุณสมุนไพร “อังกาบหนู” ว่า อังกาบหนูเป็นสมุนไพรที่มีประโยชน์อยู่มาก มีรสเย็นและรสเบื่อเมา มีความเป็นพิษเล็กน้อย คล้ายกับฤทธิ์ของเหล้า ขณะนี้ยังไม่มีงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ ยืนยันว่า อังกาบหนูสามารถรักษามะเร็งได้ มีแค่ข่าวว่าชาวบ้าน จ.สุโขทัย 5-13 ราย กินแล้วหายจากมะเร็ง จึงได้ส่งเจ้าหน้าที่แพทย์แผนไทยลงไปหาข้อเท็จจริง ว่า มีผู้ป่วยในพื้นที่กี่คน ป่วยมะเร็งที่อวัยวะใด ระยะที่เท่าไร รักษาหายจริงหรือไม่ มีผลการตรวจรักษาจากแพทย์ยืนยันหรือไม่ เพราะบางครั้งพบว่า ประชาชนเข้าใจผิดว่า ตัวเองเป็นมะเร็ง แต่ไม่ได้เป็น รวมถึงความหมายการหายจากมะเร็งก็ต่างกัน ซึ่งทางแพทย์ คือ จะต้องไม่มีเซลล์มะเร็งในร่างกายอีก แต่ชาวบ้านอาจแค่ร่างกายดีขึ้น กิน ดื่ม นอนหลับ ไม่ปวด ก็คือหายแล้ว
นพ.ขวัญชัย กล่าวว่า ทั้งนี้ หากพบข้อมูลที่เป็นประโยชน์ ก็จะพิจารณาว่า จะศึกษาวิจัยเรื่องนี้ต่อไปอย่างไร ทั้งนี้ การจะเลือกสมุนไพรหรือตำรับยามาวิจัยว่ารักษามะเร็งได้จริงหรือไม่นั้น จะมี 2 แนวทาง คือ 1.ด้านวิทยาศาสตร์ จะเป็นการหาสารสำคัญของสมุนไพรว่าสามารถฆ่าเซลล์มะเร็งได้หรือไม่ แต่การวิจัยเพียงแค่วิธีนี้อาจไม่ยุติธรรมต่อสมุนไพร เพราะสมุนไพรมักจะทำเป็นตำรับยา มีสมุนไพรหลายๆ ตัวมาเป็นยาหลัก ยารอง ยาเสริม ยาแก้ ยาตัด ยาต้าน อย่างตำรับวัดคำประมง ที่มีข้าวเย็นเหนือ ข้าวเย็นใต้ หัวร้อยรู จากการศึกษาพบว่า สามารถฆ่าเซลล์มะเร็งในหลอดทดลองได้ แต่ก็ฆ่าเซลล์ที่ดีในร่างกายด้วย แต่เมื่อนำทั้งตำรับที่มีสมุนไพรกว่า 25 ตัว มาศึกษา พบว่า สามารถฆ่าเซลล์มะเร็งได้ดี ฆ่าเซลล์ร่างกายน้อยลง เป็นภูมิปัญญาที่ใช้ฤทธิ์สมุนไพรตัวหนึ่งไปแก้พิษอีกตัวหนึ่ง
นพ.ขวัญชัย กล่าวว่า 2.การวิจัยตามภูมิปัญญา เพราะแพทย์แผนไทยจะเน้นปรับสมดุลธาตุต่างๆ ของร่างกาย เพราะเมื่อร่างกายมีความสมดุลปกติ ก็จะมีภูมิต้านทานโรคที่ดี เม็ดเลือดขาวดี เอนไซม์ดี ฮอร์โมนดี หากภูมิคุ้มกันร่างกายดีก็จะสามารถฆ่าเซลล์มะเร็งได้ เพราะฉะนั้นการที่วิจัยไม่พบสารฆ่าเซลล์มะเร็งในสมุนไพร ไม่ได้หมายความว่าจะรักษาไม่ได้ จึงต้องศึกษาตามภูมิปัญญาด้วย โดยจะไปดูว่า มีตำรับยาแผนไทยใดที่สามารถรักษาอาการคล้ายมะเร็ง เช่น น้ำเหลืองเสีย ฝีต่างๆ เพราะสมัยโบราณยังไม่มีโรคมะเร็ง ก็จะไปรวบรวมข้อมูล และเชิญผู้เชี่ยวชาญที่ใช้ยาตำรับนั้นๆ มาระดมความคิด หากพบว่า มีการใช้เพื่อรักษาอาการคล้ายมะเร็ง ก็จะพิจารณาเดินหน้าวิจัยต่อ อย่างกรณีอังกาบหนูก็เช่นกัน ก็ต้องลงไปสำรวจข้อมูลจากผู้ป่วย ผู้ใช้ตำรับนี้ และเชิญผู้เชี่ยวชาญมาคุย แล้วค่อยพิจารณาว่าจะต่อยอดในการวิจัยรักษามะเร็งหรือไม่ ซึ่งการศึกษาสมุนไพรรักษามะเร็งต้องใช้เวลานานไม่ต่ำกว่า 5 ปี ต้องศึกษาทั้งในสัตว์ ในคน ต้องมีการเก็บข้อมูลจริงจากผู้ป่วย
ภญ.สุภาภรณ์ ปิติพร หัวหน้ากลุ่มงานเภสัชกรรม รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร กล่าวว่า จากข้อมูลความเป็นพิษของอังกาบหนูนั้นซึ่งเคยศึกษาทั้งในสารสกัดน้ำมันและในน้ำ และทดลองในหนูไม่พบความผิดปกติ ดังนั้น ขอให้สบายใจได้ หรืออีกกรณีมีการศึกษาพบว่า รากของต้นอังกาบหนูหากกินมากมีผลทำให้สเปิร์มลดลง อาจจะทำให้เป็นหมัน อย่างไรก็ตาม การใช้สมุนไพรต่างๆ ต้องมีความรู้ และใช้ให้ถูก อย่างอังกาบหนูมีสามารถแก้อักเสบ รักษาแผลเปื่อยต่างๆ เช่น ถ้าต้มกินก็ช่วยรักษาแผลในกระเพาะอาหาร รวมถึงริดสีดวง เป็นต้น หรือต้มดื่มเป็นชาแก้หวัด ไอ เจ็บคอ โดยใช้อังกาบหนูประมาณ 30 กรัมต้มหม้อเล็กดื่มวันละ 3 แก้ว แต่ไม่ควรดื่มติดต่อกันระยะเวลานาน หรือหากรับประทานเป็นผงก็ไม่ควรเกินครึ่งช้อนชาเช้าและเย็น อย่างไรก็ตาม ทาง รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร เล็งศึกษาเป็นเจลรักษาแผลที่เกิดจากโรคมือ เท้า ปาก แต่ยังไม่ทันได้เริ่ม
ขอขอบคุณข้อมูล – รูปภาพ จาก MGR Online