ข่าวทั่วไป : ‘รัสเซีย’ถอนตัวจากสัญญาขีปนาวุธนิวเคลียร์ ภายหลัง‘สหรัฐฯ’ประกาศฉีกทิ้ง
ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซีย (กลาง) ร่วมประชุมกับรัฐมนตรีต่างประเทศ เซียร์เก ลาฟรอฟ (ซ้าย) และรัฐมนตรีกลาโหม เซียร์เก ชอยกู ณ ทำเนียบวังเครมลิน ในกรุงมอสโก เมื่อวันเสาร์ (2 ก.พ.) ซึ่งปูตินแถลงว่ารัสเซียจะถอนตัวจากข้อตกลง INF หลังจากสหรัฐฯฉีกสัญญาฉบับนี้ก่อน
เอเอฟพี/เอเจนซีส์ – ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน แถลงในวันเสาร์ (2 ก.พ.) ว่า รัสเซียระงับการเข้าร่วมสนธิสัญญาขีปนาวุธฉบับสำคัญที่ใช้มาตั้งแต่ยุคสงครามเย็น เพื่อเป็นการตอบโต้สหรัฐฯซึ่งเคลื่อนไหวในลักษณะนี้ไปแล้วเมื่อวันศุกร์ (1)
มอสโกกับวอชิงตันต่างฝ่ายต่างกล่าวหากันมานานแล้วว่า มีพฤติการณ์ละเมิดข้อตกลงฉบับนี้ซึ่งมีชื่ออย่างเป็นทางการว่า สนธิสัญญากองกำลังนิวเคลียร์พิสัยกลาง (Intermediate-Range Nuclear Forces agreement หรือ INF)
ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศเมื่อปีที่แล้วถึงแผนการที่สหรัฐฯจะถอนตัวจากสนธิสัญญาฉบับนี้ ยกเว้นแต่รัสเซียจะยอมกลับมากระทำตามพันธะผูกพันของตนอย่างเต็มที่
ในวันศุกร์ (1) ทรัมป์แถลงว่าวอชิงตันกำลังเริ่มต้นกระบวนการเพื่อการถอนตัวออกจาก INF ในเวลา 6 เดือน
ทางด้านปูตินกล่าวในวันเสาร์ว่า “หุ้นส่วนฝ่ายอเมริกันของเราเพิ่งประกาศว่า พวกเขากำลังระงับการเข้าร่วมในข้อตกลงฉบับนี้ เราจึงกำลังระงับการเข้าร่วมของเราเหมือนกัน” เขาบอก
ประมุขแดนหมีขาวยังกล่าวระหว่างพบปะหารือกับรัฐมนตรีต่างประเทศ เซียร์เก ลาฟรอฟ และรัฐมนตรีกลาโหม เซียร์เก ชอยกู โดยที่มีการถ่ายทอดออกอากาศทางทีวีด้วยว่า รัสเซียจะไม่เป็นผู้ริเริ่มการพูดจาใดๆ กับสหรัฐฯในเรื่องการลดกำลังอาวุธอีกต่อไปแล้ว
“เราจะเฝ้ารอไปจนกว่าหุ้นส่วนของเราจะสุกงอมเพียงพอที่จะดำเนินการสนทนาอย่างเท่าเทียมและมีความหมายกับเรา ในหัวข้อที่สำคัญมากนี้” ปูตินกล่าว
สนธิสัญญา INF นั้น ลงนามโดยประธานาธิบดีโรนัลด์ เรแกน ของสหรัฐฯ กับ มิคาอิล กอร์บาชอฟ ผู้นำคนสุดท้ายของสหภาพโซเวียต ซึ่งมีผลยุติการแข่งขันสะสมหัวรบ รวมทั้งหัวรบ “นุก” ระหว่างอภิมหาอำนาจทั้งสอง อันสร้างความตื่นกลัวให้แก่ยุโรปว่าจะต้องกลายเป็นสมรภูมิของสงครามนิวเคลียร์
เนื้อหาของ INF ระบุห้ามทั้งสองฝ่ายติดตั้งประจำการขีปนาวุธประเภทยิงจากภาคพื้นดิน ซึ่งมีพิสัยทำการระหว่าง 500 ถึง 5,500 กิโลเมตร
ข้อตกลงนี้ช่วยคลี่คลายวิกฤตการณ์จากการที่ขีปนาวุธนำวิถีซึ่งสามารถติดหัวรบนิวเคลียร์ได้ของสหภาพโซเวียต กำลังเล็งเป้าหมายไปที่บรรดาเมืองหลวงของพวกชาติตะวันตกโดยเฉพาะในยุโรป อย่างไรก็ตาม ทรัมป์วิพากษ์วิจารณ์ว่ามันไม่ได้มีเนื้อหาครอบคลุมไปถึงตัวแสดงที่บทบาทสำคัญทางการทหารรายอื่นๆ ในช่วงไม่กี่ปีหลังๆ มานี้ เป็นต้นว่า จีน
ทรัมป์กล่าวในวันศุกร์ (1) ว่า เขาปรารถนาที่จะ “นำเอาทุกๆ คนเข้ามาอยู่ในห้องที่ใหญ่โตและสวยงาม เพื่อทำสนธิสัญญาฉบับใหม่กัน” แต่ในระหว่างนี้ สหรัฐฯ “ไม่สามารถที่จะตกเป็นฝ่ายเสียเปรียบได้”
ข้อถกเถียงเรื่องข้อตกลง INF
เมื่อเดือนธันวาคม 2018 ที่ผ่านมา สืบเนื่องจากความกังวลของพวกพันธมิตรยุโรปในเรื่องการทอดทิ้ง INF ไปอย่างไม่ใยดี สหรัฐฯจึงได้ประกาศขีดเส้นตายให้เวลารัสเซีย 60 วันเพื่อถอดถอนทำลายขีปนาวุธของแดนหมีขาว ซึ่งตนเองเห็นว่าเป็นการละเมิดข้อตกลงนี้
ทว่ามอสโกซึ่งยืนยันว่า ขีปนาวุธแบบ 9เอ็ม729 ของตนที่กลายเป็นข้อโต้แย้งนี้ ไม่ใช่อาวุธต้องห้ามตามสนธิสัญญา INF ในเดือนที่แล้ว กระทรวงกลาโหมรัสเซียยังได้เชิญพวกนักหนังสือพิมพ์และทูตทหารต่างประเทศมาฟังบรรยายสรุปและชมระบบอาวุธชนิดนี้
ในวันเสาร์ (1) รัฐมนตรีต่างประเทศลาฟรอฟกล่าวย้ำอีกครั้งถึงข้อกล่าวหาของรัสเซียที่ว่า วอชิงตันต่างหากซึ่งละเมิด INF มาเป็นเวลานานปีแล้ว
ลาฟรอฟบอกว่า รัสเซียได้ “พยายามทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อรักษาสนธิสัญญานี้เอาไว้” ในระหว่างการพูดจาทางการทูตหลายต่อหลายรอบ
เวลาเดียวกัน ปูตินกล่าวว่ารัสเซียจะแสวงหาหนทางในการพัฒนาขีปนาวุธพิสัยกลาง เพื่อตอบโต้โครงการทำนองเดียวกันของฝ่ายสหรัฐฯ
ผู้นำหมีขาวเคยเตือนเอาไว้ก่อนหน้านี้ในเรื่องการแพร่กระจายของอาวุธ แต่เมื่อวันเสาร์ (1) เขาพูดกับรัฐมนตรีทั้งสองว่า รัสเซียจะ “ไม่ถูกดึงลากเข้าไปในการแข่งขันด้านอาวุธที่มีราคาแพงรอบใหม่”
เขากล่าวด้วยว่า รัสเซียจะติดตั้งประจำการขีปนาวุธพิสัยกลางและพิสัยใกล้ในยุโรปหรือที่อื่นๆ ก็เพื่อเป็นการตอบโต้ความเคลื่อนไหวอย่างเดียวกันจากสหรัฐฯเท่านั้น
พวกผู้นำยุโรปได้แสดงความหวั่นเกรงในเรื่องการฉีกทิ้ง INF และเรียกร้องรัสเซียให้ตอบสนองความกังวลห่วงใย ก่อนที่สหรัฐฯประกาศเริ่มกระบวนการถอนตัวออกจากสนธิสัญญาฉบับนี้อย่างเป็นทางการ
ในวันศุกร์ (1) พวกชาติพันธมิตรยุโรปแสดงท่าทีหันมาหนุนหลังสหรัฐฯอย่างเต็มพิกัด โดยที่องค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ (นาโต้) ที่นำโดยสหรัฐฯและสมาชิกที่เหลือเกือบทั้งหมดคือชาติพันธมิตรยุโรปนั้น ออกคำแถลงกล่าวว่า นาโต้ “สนับสนุนอย่างเต็มที่” ต่อการที่สหรัฐฯถอนตัวจาก INF และเห็นพ้องกันว่าระบบขีปนาวุธ 9เอ็ม729 ของรัสเซียนั้นละเมิดสนธิสัญญาฉบับนี้
ระหว่างการพบปะหารือกับปูตินและชอยกูเมื่อวันเสาร์ (2) ลาฟรอฟยังแสดงความกังวลว่า การที่วอชิงตันตัดสินใจถอนตัวจาก INF อาจเป็นภัยอันตรายต่อความพยายามในการขยายเวลาบังคับใช้สนธิสัญญาควบคุมอาวุธนิวเคลียร์ฉบับสำคัญที่ทำไว้ในยุคสงครามเย็นอีกฉบับหนึ่ง นั่นคือ สนธิสัญญา นิวสตาร์ท (New START treaty)
สนธิสัญญานิวสตาร์ท ซึ่งจำกัดจำนวนหัวรบนิวเคลียร์ที่วอชิงตันและมอสโกสามารถมีในครอบครองได้ กำลังจะหมดอายุลงในปี 2021
ขอขอบคุณข้อมูล-ภาพ จาก MGR Online