ข่าวแม่สอด  :  รพ.แม่สอด เตือนประชาชนระวังกินเห็ดพิษ หลัง 2 พ่อลูกตายเพราะกินเห็ด

        นายแพทย์สุชาติ พรเจริญพงศ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลแม่สอด อ.แม่สอด จ.ตาก กล่าวว่า เนื่องจากขณะนี้เป็นช่วงฤดูฝน ทำให้มีเห็ดธรรมชาติออกตามป่าในทุกพื้นที่ ทั้งเห็ดชนิดที่รับประทานได้และเห็ดพิษ แต่ละปีจะมีชาวบ้านนิยมรับประทานเห็ด ทั้งที่ซื้อตามตลาด และหาเห็ดจากป่า ซึ่งจะพบผู้ป่วยจากการรับประทานเห็ดพิษ เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล รวมถึงพบผู้เสียชีวิตทุกปี สำหรับเห็ดที่ชาวบ้านนิยมนำมารับประทานกัน เช่น เห็ดเผาะ หรือ (เห็ดถอบ) เห็ดไข่ เห็ดโคน เห็ดหล่ม เห็ดจูน เห็ดหูหนู และเห็ดลม เป็นต้น ส่วนเห็ดที่มีพิษ เช่น เห็ดระโงกหิน เห็ดไข่ห่านตีนต่ำ เห็ดสมองวัว เห็ดน้ำหมึก เห็ดหิ่งห้อย เห็ดเกล็ดดาว เป็นต้น แม้บางรายจะทดสอบความเป็นพิษโดยใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่น ซึ่งในบางครั้งก็อาจจะพลาดได้ ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ และจำเป็นต้องใช้ร่วมกันกับวิธีการสังเกตอื่น ๆ เพื่อให้แน่ใจในชนิดของเห็ด เมื่อรับประทานเห็ดพิษเข้าไปอาจทำให้

 เกิดอันตรายต่อร่างกาย เช่น ทำให้ปวดท้อง เวียนศีรษะ คลื่นไส้ และอาเจียนอย่างรุนแรง บางชนิดทำให้มีอาการมึนเมา ประสาทหลอน ซึ่งบางรายบริโภคมากเกินไป อาจทำให้ถึงขั้นเสียชีวิตได้เช่นเดียวกัน

         ทั้งนี้ รายงานข่าวแจ้งว่า มีชาวบ้านหมู่ 7 บ้านธงชัย ต.ด่านแม่ละเมา อ.แม่สอด จ.ตาก เป็น 2 พ่อลูก ไปเก็บเห็ดในป่า มาทำอาหารกินและเสียชีวิต

ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับเห็ดพิษ

ตารางเปรียบเทียบลักษณะเห็ดพิษและเห็ดรับประทานได้

เห็ดพิษ
เห็ดรับประทานได้
1. ส่วนใหญ่เจริญงอกงามในป่า
1. ส่วนใหญ่เจริญในทุ่งหญ้า
2. ก้านสูง ลำต้นโป่งพองออก โดยเฉพาะที่ฐาน กับที่วงแหวนเห็นชัดเจน
2. ก้านสั้น อ้วนป้อมและไม่โป่งพองออก ผิวเรียบไม่ขรุขระ ไม่มีสะเก็ด
3. สีผิวของหมวกมีได้หลายสี เช่น สีมะนาว ถึงสีส้ม สีขาวถึงสีเหลือง
3. สีผิวของหมวกส่วนใหญ่เป็นสีขาวถึงสีน้ำตาล
4. ผิวของหมวกเห็ดส่วนมากมีเยื่อหุ้มดอกเห็ดเหลืออยู่ในลักษณะที่ดึงออกได้ หรือเป็นสะเก็ดติดอยู่
4. ผิวของหมวกเห็ดเรียบจนถึงเป็นเส้นใยและ เหมือนถูกกดจนเป็นแผ่นบาง ๆ ดึงออกยาก
5. ครีบแยกออกจากกันชัดเจน มักมีสีขาว บางชนิดสีแดงหรือสีเขียวอมเหลือง
5. ครีบแยกออกจากกัน ในระยะแรกเป็นสีชมพู แล้วเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล
6. สปอร์ใหญ่มีสีขาวหรือสีอ่อน มีลักษณะใส ๆ รูปไข่กว้าง
6. สปอร์สีน้ำตาลอมม่วงแก่รูปกระสวยกว้าง

การนำมาทดสอบพิษด้วยการต้มรวมกับข้าวสาร ช้อนเงิน หรือหัวหอม เป็นวิธีที่ถูกต้องหรือไม่
         ไม่ถูกต้องนัก เนื่องจากวิธีดังกล่าวไม่สามารถทดสอบกับเห็ดบางชนิด เช่น เห็ดพิษสกุล Amanita

การนำเห็ดไปต้มให้สุกก่อนรับประทาน จะมีความปลอดภัยร้อยเปอร์เซ็นต์หรือไม่
         ไม่ร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะว่าเห็ดบางชนิด เช่น  เห็ดระโงกหิน หรือเห็ดไข่ตายซาก (ฮาก) (Amanita verna และ Amanita virosa ) ซึ่งมีสารพิษในกลุ่ม cyclopeptide จะทนความร้อนได้ดี การนำเห็ดไปต้มก็ไม่สามารถทำให้สารพิษนี้สลายไปได้

อาการของพิษที่เกิดจากการรับประทานเห็ด/ควรปฐมพยาบาลเบิ้องต้นอย่างไร

อาการของพิษที่เกิดจากการรับประทานเห็ดพิษแต่ละกลุ่ม ได้แก่

กลุ่มที่สร้างสารพิษ cyclopeptide มีพิษต่อตับ เช่น เห็ดไข่ตายซากหรือเห็ดระโงกหิน(Amanita verna และ Amanita virosa ) เมื่อรับประทานเข้าไปจะมีอาการเป็น 3 ระยะ คือ
        ระยะที่ 1 เป็นระยะฟักตัวประมาณ 6-24 ชั่วโมง ปกติประมาณ 10 ชั่วโมง หลังจากรับประทานเห็ดเข้าไปถึงขั้นแสดงอาการ
        ระยะที่ 2 จะมีอาการเป็นตะคริวที่ท้อง คลื่นเหียนอาเจียน ท้องร่วง เอนไซม์ตับสูงขึ้นเรื่อย ๆ โดยจะแสดงอาการ 2-3 วัน
        ระยะที่ 3 มีอาการตับอักเสบ ไตวาย หัวใจวาย เลือดเป็นลิ่มแพร่กระจาย ชัก และเสียชีวิต ภายใน 6 –16 วัน ปกติประาณ 8 วัน หลังจากการรับประทานเห็ดพิษชนิดนี้เข้าไป

กลุ่มที่สร้างสารพิษ Monomethylhydrazine (Gyromitrin) ออกฤทธิ์ต่อระบบประสาทส่วนกลาง เห็ดที่มีสารพิษนี้เช่น เห็ดสมองวัว (Gyromitra esculanta )

        อาการของสารพิษชนิดนี้จะปรากฏใน 6-8 ชั่วโมง หลังจากรับประทานเห็ด บางชนิดอาจเร็วมากเพียง 2 ชั่วโมง และบางชนิดอาจนานถึง 12 ชั่วโมง จะมีอาการต่าง ๆ คือ มึมงง ปวดศรีษะ คลื่นใส้ อาเจียน ท้องเสียและเป็นตะคริวที่กล้ามเนื้อ เจ็บที่ท้อง ในรายที่รุนแรง จะพบการทำลายตับ มีไข้สูง ชัก ไม่รู้สึกตัว และถึงตายได้ภายใน 2-4 วัน หลังรับประทานเห็ดกลุ่มนี้

กลุ่มที่สร้างสารพิษ Coprine

         เห็ดที่มีสารพิษนี้  เช่น เห็ดหิ่งห้อย เห็ดน้ำหมึกหรือเห็ดถั่ว (Coprinus atramentrarius) อาการของสารพิษชนิดนี้จะแสดงอาการภายใน 5-10 นาที อาจจะถึง 30 นาทีหลังจากรับประทานเห็ดเข้าไป ถ้ามีการดื่ม alcohol เข้าไปในช่วงเวลา 24 ชั่วโมง ก่อนรับประทานเห็ด คุณสมบัติทางเคมีคล้ายคลึงกับ Antavare ซึ่งรักษาคนไข้ติด alcohol ผู้ป่วยจะมีอาการหน้าแดง ตัวแดง ใจสั่น หายใจหอบ เหงื่อแตก เจ็บหน้าอก ชาตามตัว คลื่นเหียนอาเจียน ม่านตาขยาย และความดันโลหิดสูง อาจพบความดันโลหิตต่ำเนื่องจากหลอดเลือดขยายตัว แต่จะหายเป็นปกติภายในเวลา 3-4 ชั่วโมง

กลุ่มที่สร้างสารพิษ Muscarine

         เห็ดที่มีสารพิษชนิดนี้เช่น Inocybe napipes, หลังจากรับประทานเห็ดที่มีสารพิษชนิดนี้ประมาณ 30 นาที ถึง 1 ชั่วโมง จะมีอาการหัวใจเต้นช้า หลอดลมหดเกร็ง เสมหะมาก ม่านตาหดเล็ก น้ำลายฟูมปาก น้ำตาไหล ปัสสาวะอุจจาระราด และอาเจียน

กลุ่มที่สร้างสารพิษ Ibotenic acid-muscimol

         เห็ดที่มีสารพิษชนิดนี้  เช่น เห็ดเกล็ดดาว ( Amanita pantherina ), A. muscaria หลังจากรับประทานเห็ดที่มีสารพิษชนิดนี้ จะเกิดอาการเมา เดินโซเซ เคลิ้มฝ้น ร่าเริง กระปรี้กระเปร่า การรับรู้ภาพเปลี่ยนแปลง ประสาทหลอนและเอะอะโวยวาย ภายหลังจากเอะอะแล้วผู้ป่วยจะหลับนาน เมื่อตื่นขึ้นมาอาการจะกลับคืนสู่สภาพปกติใน 1-2 วัน ถ้ารับประทานเห็ดชนิดนี้มาก ๆ จะเกิดอาการทางจิตอย่างชัดเจน อาจชักและหมดสติได้

กลุ่มที่สร้างสารพิษ Psilocybin

         เห็ดที่มีสารพิษชนิดนี้  เช่น เห็ดขี้ควาย เห็ดขี้วัว บางแห่งเรียกเห็ดโอสถลวงจิต(Psilocybe cubensis) หลังจากรับประทานเห็ดที่มีสารพิษชนิดนี้ ประมาณ 30 นาที ถึง 1 ชั่วโมง ผู้ป่วยจะเริ่มรู้สึกเคลิบเคลิ้ม ตามด้วยการรับรู้ที่ผิดไปจากความเป็นจริง และประสาทหลอน มีอาการเดินโซเซ ม่านตาขยาย หัวใจเต็นเร็ว หายใจถี่ ความดันโลหิดสูง ระดับน้ำตาลในเลือดลด มีอาการแสดงของระบบประสาทส่วนกลางถูกกระตุ้น มีความเคลื่อนไหวมากผิดปกติ จนกระทั่งถึงชักได้

         สารพิษกลุ่ม Gastrointestinal Irritants เป็นเห็ดพิษที่ทำให้เกิดอาการเฉพาะระบบทางเดินอาหารภายใน 30 นาที ถึง 3 ชั่วโมง มีอาการจุกเสียดยอดอก อ่อนเพลีย คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย และไม่ทำให้มีอาการทางระบบอื่น ๆ เห็ดที่มีสารพิษชนิดนี้เช่นเห็ดหัวกรวดครีบเขียว ( Chlorophyllum molybdites ), เห็ดแดงน้ำหมาก ( Russula emetica )
การปฐมพยาบาลเบื้องต้น

         การปฐมพยาบาลมีความสำคัญอย่างยิ่ง หากผู้ป่วยรับประทานเห็ดพิษและเกิดอาการพิษขึ้น ควรจะรู้จักวิธีปฏิบัติที่ถูกต้องกับผู้ป่วย แต่ตามชนบทมักจะแสดงอาการหลังรับประทานแล้วหลายชั่วโมง ซึ่งพิษมักจะกระจายไปมาก ดังนั้นจึงจำเป็นต้องรู้จักวิธีปฐมพยาบาล แล้วรีบนำส่งแพทย์ เพื่อทำการรักษาโดยรีบด่วนต่อไป

         การปฐมพยาบาลนั้น ที่สำคัญที่สุดคือ ทำให้ผู้ป่วยอาเจียนเอาเศษอาหารที่ตกค้างออกมาให้มาก และทำการช่วยดูดพิษจากผู้ป่วยโดยวิธีใช้น้ำอุ่นผสมผงถ่าน activated charcoal แล้วดื่ม 2 แก้ว โดยแก้วแรกให้ล้วงคอให้อาเจียนออกมาเสียก่อนแล้วจึงดื่มแก้วที่ 2 แล้วล้วงคอให้อาเจียนออกมาอีกครั้ง จึงนำส่งแพทย์พร้อมกับตัวอย่างเห็ดพิษหากยังเหลืออยู่ หากผู้ป่วยอาเจียนออกยากให้ใช้เกลือแกง 3 ช้อนชาผสมน้ำอุ่นดื่ม จะทำให้อาเจียนได้ง่ายขึ้น แต่วิธีนี้ห้ามใช้กับเด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบ

         อนึ่งห้ามล้างท้องด้วยการสวนทวารหนักโดยพละการ วิธีนี้ต้องให้แพทย์เป็นผู้วินิจฉัยเท่านั้น เพราะวิธีนี้เป็นอันตรายต่อผู้ป่วยหากร่างกายขาดน้ำ

         หลังจากปฐมพยาบาลผู้ป่วยแล้วให้รีบนำส่วนแพทย์โดยด่วน พร้อมกับตัวอย่างเห็ดพิษ (หากยังเหลืออยู่) หรืออาจจะทำการปฐมพยาบาลผู้ป่วยในระหว่างนำส่งแพทย์ด้วยกันก็ได้

คำแนะนำในการเลือกชื้อและนำเห็ดมาประกอบอาหาร ควรทำอย่างไร

การนำเห็ดมาประกอบอาหารควรปฏิบัติดังนี้

  1. การรับประทานอาหารที่ประกอบขึ้นด้วยเห็ด ควรจะรับประทานแต่พอควร อย่ารับประทานจนอิ่มมากเกินไป เพราะเห็ดเป็นอาหารที่ย่อยยาก อาจจะทำให้ผู้มีระบบย่อยอาหารที่อ่อนแอเกิดอาการอาหารเป็นพิษได้
  2. ควรระมัดระวัง คัดเห็ดที่เน่าเสียออกเพราะเห็ดที่เน่าเสียจะทำให้เกิดอาการอาหารเป็นพิษได้
    อย่ารับประทานอาหารที่ปรุงขึ้นสุก ๆ ดิบ หรือเห็ดดิบดอง เพราะเห็ดบางชนิดยังจะมีพิษอย่างอ่อนเหลืออยู่ ผู้รับประทานจะไม่รู้สึกตัวว่ามีพิษ จนเมื่อรับประทานหลายครั้งก็สะสมพิษมากขึ้น และเป็นพิษร้ายแรงถึงกับเสียชีวิตได้ในภายหลัง
  3. ผู้ที่รู้ตัวเองว่าเป็นโรคภูมิแพ้เกี่ยวกับเห็ดบางชนิด หรือกับเห็ดทั้งหมด ซึ่งถ้ารับประทานเห็ดเข้าไปแล้ว จะทำให้เกิดอาการเบื่อเมา หรืออาหารเป็นพิษ จึงควรระมัดระวัง รับประทานเฉพาะเห็ดที่รับประทานได้โดยไม่แพ้ หรือหลีกเลี่ยงจากการรับประทานเห็ด
  4. ระมัดระวังอย่ารับประทานเห็ดพร้อมกับดื่มสุรา เพราะเห็ดบางชนิดจะเกิดพิษทันที ถ้าหากดื่มสุราหลังจากรับประทานเห็ดแล้วภายใน 48 ชั่วโมง เช่น เห็ดหิ่งห้อย เห็ดน้ำหมึกหรือเห็ดถั่ว (Coprinus atramentarius ) แม้แต่เห็ดพิษอื่นทั่วไป หากดื่มสุราเข้าไปด้วย ก็จะเป็นการช่วยให้พิษกระจายได้รวดเร็วและรุนแรงขึ้นอีก

เอกสารอ้างอิง

Lincoff.G.H. and P.M. Michell 1977. Toxic and Hallucinogenic Mushroom Poisoning, a Hhandbook for physicians and Mushroom Hunter. Van Nostrand & Reinhlod Co., New York.
สมาคมนักวิจัยและเพาะเห็ดแห่งประเทศไทย. เห็ดพิษ กรุงเทพฯ : บริษัทนิวธรรมดาการพิมพ์(ประเทศไทย) จำกัด, 2543.
สมิง เก่าเจริญและคณะ. หลักการวินิจฉัยและรักษาภาวะเป็นพิษ. พิมพ์ครั้งที่ 1: ศูนย์พิษวิทยา คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี, 2541.

ขอขอบคุณข้อมูลและรูปภาพ  :  INN

ขอขอบคุณข้อมูล  :  (ศูนย์ข้อมูลพิษวิทยา) webdb.dmsc.moph.go.th/