บทความสุขภาพ  :  อย.พิจารณาปลด พืชกระท่อม ไม่เป็นยาเสพติดชนิด 5 ใช้ทางแพทย์

         อย. แจงมาเลเซียยังควบคุม “พืชกระท่อม” ไม่ได้จดสิทธิบัตรพืชกระท่อมและสารสำคัญตามข่าว จนทำให้ไทยเสียประโยชน์ เผย กฤษฎีกากำลังพิจารณาประมวลกฎหมายยาเสพติด ปลดล็อกกระท่อมไม่เป็นยาเสพติดชนิด 5 นำมาใช้ทางการแพทย์ได้

         นพ.วันชัย สัตยาวุฒิพงศ์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวถึงกรณีข่าวประเทศมาเลเซียสนับสนุนให้มีการผลิตผลิตภัณฑ์จากพืชกระท่อม ทำให้ไทยเสียโอกาสการใช้ประโยชน์จากพืชกระท่อม ว่า กฎหมายของมาเลเซีย การนำเข้า ส่งออก ผลิต ขาย หรือครอบครองสารไมทราไจนีน (Mitragynine) ซึ่งเป็นสารออกฤทธิ์สำคัญในใบกระท่อม เป็นการฝ่าฝืนกฎหมาย สำหรับข่าวการจดสิทธิบัตรพืชกระท่อมของมาเลเซีย ปัจจุบันข้อมูลจากสำนักงานทรัพย์สินทางปัญญาของประเทศมาเลเซีย มีมหาวิทยาลัยได้ยื่นขอจดสิทธิบัตรเกี่ยวกับกระบวนการใช้ประโยชน์สารไมทราไจนีนสำหรับป้องกันการติดฝิ่น ซึ่งการจดสิทธิบัตรดังกล่าว ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการจดสิทธิบัตรพืชและสารสำคัญในพืชกระท่อม ทั้งนี้ เว็บไซต์ที่มีการโฆษณาจำหน่ายพืชกระท่อมมีจำนวนมาก ซึ่งอาจมีปัญหาในแง่ความน่าเชื่อถือ

         นพ.วันชัย กล่าวว่า สำหรับข้อเสนอการควบคุมพืชกระท่อมของ อย. เพื่อให้พืชกระท่อมสามารถนำไปใช้ในทางการแพทย์ได้ มีดังนี้ 1) ไม่กำหนดพืชกระท่อมเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 ตามร่างประมวลกฎหมายยาเสพติด ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งผลจากการแก้ไขกฎหมายดังกล่าว เมื่อร่างประมวลกฎหมายฯ มีผลบังคับใช้พืชกระท่อมก็สามารถนำไปใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ หรือนำไปใช้ประโยชน์เพื่อการศึกษาวิจัยในมนุษย์ก็สามารถทำได้ตามกฎหมาย 2) เสนอประกาศควบคุมสารไมทราไจนีน (Mitragynine) ซึ่งเป็นสารสำคัญของพืชกระท่อม เป็นวัตถุออกฤทธิ์ ในประเภท 2 ตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518 ซึ่งมีการควบคุมที่เข้มงวด โดยหากมีการแปรสภาพ เช่น นำใบกระท่อมไปต้มเอาน้ำมาเป็นส่วนผสม 4 x 100 ก็จะได้รับโทษตามกฎหมาย

         “อันที่จริงแล้วการควบคุมพืชกระท่อมในประเทศต่างๆ ปัจจุบันสหประชาชาติยังมิได้มีการประกาศควบคุมพืชกระท่อมตามอนุสัญญาฯ ระหว่างประเทศ แต่ได้ขอให้ประเทศสมาชิกเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์การใช้พืชกระท่อมด้วย จากการสืบค้น พบว่า ประเทศต่างๆ เช่น เดนมาร์ก ลัตเวีย ลิทัวเนีย โปแลนด์ โรมาเนีย สวีเดน มีการควบคุมพืชกระท่อม และสารไมทราไจนีน (Mitragynine) และเซเวนไฮดรอกซีไมทราไจนีน (7-Hydroxymitragynine) สำหรับประเทศออสเตรเลีย พม่า และ มาเลเซีย ก็มีการควบคุมพืชกระท่อม เช่นกัน” เลขาธิการ อย. กล่าว

 

ขอขอบคุณข้อมูลและรูปภาพ  :  http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9600000065549