ข่าวทั่วไป : พม่าเสี่ยงถูกนานาชาติคว่ำบาตรกรณีปฏิเสธวีซ่าให้คณะสอบสวนสหประชาชาติ
รัฐบาลของนางอองซานซูจี เสี่ยงที่จะถูกพิจารณาว่าเป็นรัฐที่ไม่เป็นที่ยอมรับของสังคมนานาชาติ เช่นเดียวกับเกาหลีเหนือ และซีเรีย จากการปฏิเสธที่จะออกวีซ่าให้แก่ทีมสอบสวนชะตากรรมชาวมุสลิมโรฮิงญาของสหประชาชาติ
รัฐบาลพลเรือนของอองซานซูจี กล่าวเมื่อวันที่ 30 มิ.ย. ว่า จะไม่ต้อนรับผู้สอบสวน 3 คน ที่ได้รับการแต่งตั้งจากคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ โดยยืนยันว่า พม่ากำลังดำเนินการสอบสวนด้วยตัวเองในข้อกล่าวหาต่างๆ ต่อชนกลุ่มน้อยกลุ่มนี้
“การปฏิเสธดังกล่าวเทียบได้กับการตบหน้าเหยื่อที่ต้องทนทุกข์ทรมานจากการถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยกองกำลังรักษาความมั่นคงของพม่า” จอห์น ฟิชเชอร์ ผู้อำนวยการฮิวแมนไรท์วอทช์ กล่าวในคำแถลงฉบับหนึ่ง
“รัฐบาลของนางอองซานซูจี ต้องการที่จะรวมอยู่ในกลุ่มประเทศที่น่ารังเกียจที่ปฏิเสธการตัดสินใจของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนอย่างนั้นหรือ” ฟิชเชอร์ กล่าว
“เกาหลีเหนือ เอริเทรีย ซีเรีย และบุรุนดี เป็นชาติที่ถูกนานาชาติคว่ำบาตรด้านสิทธิมนุษยชน ที่ขัดขวางการทำงานการสืบสวนระหว่างประเทศอย่างเป็นอิสระในข้อกล่าวหาการละเมิดสิทธิ และสิ่งนี้จะเป็นเรื่องล้อเลียนรัฐบาลภายใต้การนำของพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตยที่ได้รับเลือกตั้งอย่างเป็นประชาธิปไตย ที่ทำแบบเดียวกัน” ผู้อำนวยการฮิวแมนไรท์วอทช์ กล่าว
เมื่อวันจันทร์ (10) นิกกี เฮลีย์ ทูตสหรัฐฯ ประจำสหประชาชาติ ได้เรียกร้องให้รัฐบาลพม่าให้วีซ่าแก่คณะภารกิจค้นหาข้อเท็จจริง โดยระบุว่าประชาคมระหว่างประเทศไม่สามารถตรวจสอบสิ่งที่เกิดขึ้นในพม่าได้
รัฐยะไข่ ที่อยู่ทางตอนเหนือของพม่าอยู่ภายใต้การปิดล้อมตั้งแต่เดือน ต.ค. เมื่อทหารเริ่มดำเนินการปราบปรามผู้ก่อความไม่สงบชาวโรฮิงญาที่ก่อเหตุโจมตีด่านตำรวจชายแดน โดยชาวโรฮิงญามากกว่า 90,000 คน ต้องอพยพหลบหนีการปราบปรามไปฝั่งบังกลาเทศ ตามการระบุของสหประชาชาติ
และรายงานของสหประชาชาติเมื่อเดือน ก.พ. ระบุว่า การปราบปรามของทหารต่อชาวโรฮิงญา ที่ถูกปฏิเสธสิทธิการเป็นพลเมือง และสิทธิอื่นๆ ในพม่า มีแนวโน้มอย่างมากที่จะเป็นการก่ออาชญากรรมสงคราม
ในเดือน พ.ค. คณะมนตรีสิทธิมนุษยชน ได้แต่งตั้ง อินทิรา ไจซิง ทนายความชาวอินเดีย ราติกา กุมาราสวามี ทนายความชาวศรีลังกา และคริสโตเฟอร์ โดมินิค ที่ปรึกษาชาวออสเตรเลีย ทำหน้าที่ในฐานะสมาชิกของทีมภารกิจของสหประชาชาติ
ภารกิจดังกล่าวได้รับคำสั่งให้สืบสวนอย่างเร่งด่วนต่อการละเมิดสิทธิโดยกองกำลังรักษาความมั่นคง โดยเฉพาะในรัฐยะไข่ ที่กองกำลังทหารถูกกล่าวหาว่า ข่มขืน ทรมาน และสังหารสมาชิกชุมชนชาวโรฮิงญา.
ขอขอบคุณข่าว-ภาพ จาก เอเอฟพี, http://www.manager.co.th/IndoChina/ViewNews.aspx?NewsID=9600000071340