ข่าวสุขภาพ : ผลการศึกษาชี้ การนอนหลับไม่เพียงพอ สร้างความเสียหายในดีเอ็นเอ
เซาท์ ไชน่า มอร์นิ่ง โพสต์–การอดนอนอาจทำลายดีเอ็นเอ อีกทั้งความสามารถในการซ่อมแซมดีเอ็นเอ และอาจเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคทางพันธุกรรม เช่น มะเร็ง
“นี่เป็นการศึกษาระดับเบื้องต้น ซึ่งบ่งชี้ว่าการนอนไม่พอหรือการนอนที่ไร้ประสิทธิภาพ ไม่ดีต่อยีนส์ และการที่ดีเอ็นเอถูกทำลาย จะเกิดการเปลี่ยนแปลงในรหัสพันธุกรรมสำหรับการเจริญเติบโตของเซลส์ และฟังชั่นต่างๆในสิ่งมีชีวิต ” ดร.กอร์ดอน หว่อง-ทิน-ชุง ( Gordon Wong Tin-chun) ผู้เขียนร่วมรายงานการศึกษา และรองศาสตราจารย์ประจำภาควิชาวิสัญญีวิทยามหาวิทยาลัยแห่งฮ่องกง (HKU)
ดร.หว่อง กล่าวว่าการที่ดีเอ็นเอเสียหาย จะทำให้ความสามารถในการซ่อมแซมต่ำลง และส่งผลกระทบต่อสุขภาพ โดยอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อกลุ่มโรคทางพันธุกรรม เช่น มะเร็ง
ทั้งนี้ผลการศึกษาที่ได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่เมื่อเร็วๆนี้ในวารสารวิสัญญีวิทยา อาจปรับใช้กับกลุ่มคนที่มีอาชีพซึ่งลักษณะงานคล้ายกับแพทย์ โดยต้องอยู่เวรกะดึก
การวิจัยผลกระทบต่อการนอนไม่เพียงพอนี้ ดำเนินการศึกษาโดยสุ่มตัวอย่างกลุ่มแพทย์ 49 คน ที่สุขภาพดี-ทำงานเต็มเวลา โดย 24 คน ต้องทำงานกะดึก 5-6 ครั้งต่อเดือน (จากช่วงบ่ายๆไปถึงรุ่งเช้า) ส่วนกลุ่มแพทย์ที่เหลือ 25 คน ไม่ต้องอยู่เวรกะดึก
นักวิจัยได้เจาะตัวอย่างเลือดจากผู้เข้าร่วมการวิจัยหลังจากที่นอนไม่พอเป็นเวลาสามวัน และพบว่ากลุ่มแพทย์ที่ต้องอยู่เวรกะดึก มีอัตราสายดีเอ็นเอที่เสียหาย (DNA breaks) สูงกว่า 30 เปอร์เซ็นต์ เทียบกับกลุ่มแพทย์ที่ทำงานตามเวลาปกติ
นอกจากนี้ยังพบว่าการทำงานของยีนส์ที่เชื่อมโยงกับการซ่อมแซมดีเอ็นเอ ในแพทย์ที่นอนไม่พอนั้น มีระดับต่ำกว่า
แต่ในการศึกษาชุดนี้ไม่ได้ระบุชัดเจนเกี่ยวกับกลไกที่อธิบายว่าการนอนไม่พอทำให้เกิดความเสียหายในยีนส์
ดร.หว่องกล่าวว่าการวิจัยต้องการให้ประชาชนตื่นตัวมากขึ้นเกี่ยวกับความสำคัญของการนอน
ทั้งนี้ ศูนย์ป้องกันและควบคุมโรคของสหรัฐฯ ระบุคำแนะนำสำหรับการนอนของคนทั่วไป ได้แก่ คนวัยผู้ใหญ่ อายุ 18-60 ปี ควรนอนอย่าง 7 ชั่วโมงในแต่ละคืน
ขอขอบคุณข้อมูล-ภาพ จาก MGR Online