บทความสุขภาพ-ความงาม  :  ผมร่วงบ่อย เป็นจำนวนมาก สัญญาณเตือนโรคไทรอยด์

ผมร่วงบ่อย เป็นจำนวนมาก สัญญาณเตือนโรคไทรอยด์

          โดย…นพ.ถนอมกิต เพราะสุนทร แพทย์ผ่าตัดผิวหนังและเส้นผม โรงพยาบาลพระรามเก้า

          จากข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุข พบว่า ปัจจุบันคนปกติทั่วไปจะมีเส้นผมประมาณ 80,000-120,000 เส้น และจะร่วงเป็นประจำทุกวัน วันละ 30-50 เส้น ส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นกับเพศชายมากกว่าเพศหญิง ที่มีอายุตั้งแต่ 20 ปีขึ้นไป และหากบางรายมีผมร่วงมากเกินกว่าปกติ จะส่งผลให้เกิดปัญหาผมร่วง ผมบาง และศีรษะล้านจนเกิดความกังวลและขาดความมั่นใจในชีวิตประจำวันในที่สุด

         ดังนั้นการตรวจปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อตรวจวิเคราะห์เส้นผมเบื้องต้น ผ่านเครื่องมือ Hair Analysis ในการตรวจโครงสร้าง ขนาด ความหนาแน่นของหนังศีรษะ เพื่อหาสาเหตุของเกิดผมบาง ซึ่งส่วนใหญ่ผมบางเกิดจากกรรมพันธุ์ ฮอร์โมน การรับประทานยา รวมไปถึงภาวะโรคทางกาย เช่น โรคไทรอยด์ ภูมิแพ้ตัวเอง SLE เบาหวาน ภาวะความเครียดและการรับประทานอาหารที่ไม่เพียงพอไม่ถูกตามหลักโภชนาการ เป็นต้น

          โรคไทรอยด์ นับว่าเป็นโรคที่เกิดจากภาวะกายอันดับ 1 ที่เป็นสาเหตุทำให้ผมหลุดร่วงมากที่สุด ซึ่งจะมีสภาวะที่ต่อมไทรอยด์สร้างฮอร์โมนผิดปกติ ส่วนใหญ่จะเกิดจากพันธุกรรม และมักพบในเพศหญิงมากกว่าเพศชายของคนที่ป่วยด้วยโรคไทรอยด์ ส่วนอาการแรกที่เป็นสัญญาณเตือนภัย คือ เส้นผมจะร่วงมากผิดปกติ อันเนื่องมาจากคนที่เป็นโรคไทรอยด์นี้ ร่างกายจะขับไขมันออกมาทางผิวหนังมาก ทำให้หนังศีรษะมัน รากผมอ่อนแอ เป็นสาเหตุทำให้ผมร่วงได้ง่าย

          นอกจากนี้ โรคนี้ยังจะมีอาการอื่นแทรกซ้อนเข้ามาด้วย เช่น นอนไม่หลับ ตาโปน กล้ามเนื้ออ่อนแรง เหนื่อยง่าย และน้ำหนักลด เกิดความเครียดตลอดเวลา ซึ่งเป็นหนึ่งปัจจัยหลัก ๆ ที่ทำให้เกิดอาการผมร่วงได้ง่ายเช่นกัน ส่วนวิธีการรักษาเส้นผมที่เกิดจากการหลุดร่วง คือ ควรตรวจวิเคราะห์ วินิจฉัยจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้วยภาวะโรคทางกายในการตรวจสุขภาพเบื้องต้นก่อน ด้วยวิธีการเจาะเลือด เพื่อหาสาเหตุของโรค หากพบว่าเป็นไทรอยด์แล้ว โรคนี้จะแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ

         1. แบบไฮโปไทรอยด์ (Hypothyroidism) ที่ผลิตฮอร์โมนไทรอยด์ออกมาไม่เพียงพอ โดยต่อมไทรอยด์ซึ่งอยู่ด้านหน้าส่วนล่างของคอ ทำหน้าที่ผลิตและส่งฮอร์โมนไทรอยด์เข้าไปในกระแสเลือด โดยลักษณะอาการผู้ป่วยจะมีน้ำหนักมาก เพราะร่างกายไม่สามารถเผาผลาญอาหารได้ และส่งผลให้ผมร่วง ซึ่งกลุ่มนี้จะต้องได้รับฮอร์โมนกลับเข้าไปด้วย

         2.แบบไฮเปอร์ไทรอยด์ ส่วนใหญ่จะเกิดจากต่อมไทรอยด์ทำงานผิดปกติ ลักษณะอาการของผู้ป่วยจะมีอาการที่ผอมมาก คอโต ตาโปน ตัวเหลืองและผมร่วงในที่สุด ซึ่งทั้งสองกลุ่มนี้จำเป็นต้องตรวจวินิจฉัยสุขภาพเบื้องต้น เพื่อรักษาโรคไปพร้อมกับการตรวจรักษาเส้นผม โดยขั้นตอนการรักษาเส้นผมแพทย์จะทำการตรวจวิเคราะห์สาเหตุที่แท้จริงที่ทำให้เกิดผมร่วง และเลือกวิธีการรักษาที่เหมาะสมกับผู้ป่วย

         ทั้งนี้วิธีการรักษามีได้หลายวิธี อาทิ การรักษาด้วยการรับประทานยาและวิตามินเสริม การใช้เลเซอร์ยิงลงบนหนังศีรษะเพื่อกระตุ้นเซลล์รากผมที่เสื่อมสภาพ และการใช้แสงสีแดงที่มีลักษณะเป็นหลอด LED จำนวนมากฉายลงบริเวณเส้นผมและหนังศีรษะเพื่อช่วยเร่งการเจริญเติบโตของเซลล์รากผมและเร่งการหมุนเวียนของโลหิต เพื่อเพิ่มความมั่นใจกลับคืนสู่ผู้ป่วยอีกครั้ง

 

ขอขอบคุณข้อมูลและรูปภาพ  :  นพ.ถนอมกิต เพราะสุนทร แพทย์ผ่าตัดผิวหนังและเส้นผม โรงพยาบาลพระรามเก้า, https://mgronline.com/qol/detail/9600000097365