ข่าวแม่สอด  :  ชายแดนแม่สอดระส่ำ ลอยแพคนงานพม่าเกือบ 500 คน หวั่นผิดกฎหมาย

         นายกฯ สั่งการเร่งด่วนให้อธิบดีกรมจัดหางานไปศึกษาแนวทางแก้ไขปัญหาผลกระทบกฎหมายแรงงานต่างด้าวในไทย หลังแรงงานพม่าตามจังหวัดชายแดนระส่ำเพราะสถานประกอบการเลิกจ้างเกรงผิดกฎหมาย เอกชนชี้สวนทางเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษตากทำแรงงานป่วนหนัก

         วันนี้ (30 มิ.ย.) ที่บริเวนชายแดนไทย-พม่า แรงงานต่างด้าวสัญชาติพม่า ประมาณ 400-500 คน ต้องเดินทางข้ามแม่น้ำเมยกลับไปยังจังหวัดเมียวดี ประเทศพม่า ตรงข้ามอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก หลังจากที่นายจ้าง และผู้ประกอบการไม่กล้าจ้างแรงงานต่างด้าวที่ผิดกฎหมาย และไม่สามารถนำแรงงานพม่าเข้ามาทำงานตรงกับอาชีพที่ระบุไว้ได้

         หลังจากที่ประเทศไทยได้ออกกฎหมายแรงงานต่างด้าวฉบับใหม่ที่มีโทษรุนแรง ทำให้สถานประกอบการเริ่มได้ผลกระทบ และทางการพม่าต้องแบกรับภาระการหลั่งไหลกลับไปของแรงงานที่ได้รับความเดือดร้อน โดยซื้อข้าวห่อไปเลี้ยงแรงงานที่ตกงานทั้งหมด

         นอกจากนี้ ยังมีบรรดานายหน้าที่เคยส่งแรงงานต่างด้าวสัญชาติพม่า ก็ไม่รับแรงงานต่างด้าวอีกเกรงว่าจะถูกจับกุม และได้รับโทษที่รุนแรง

ชายแดนแม่สอดระส่ำ ลอยแพคนงานพม่าเกือบ 500 คน หวั่นผิดกฎหมาย

         เจ้าหน้าที่พม่า ที่จังหวัดเมียวดี รายหนึ่งแจ้งว่า แรงงานพม่าที่กลับไปต่างบอกว่าไม่ได้ไปก่ออาชญากรรม และกระทำผิดกฎหมายความมั่นคงของไทย ทำไมต้องมากำหนดโทษรุนแรง

         สำหรับเรื่องนี้กำลังเป็นที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์จากนายจ้างคนไทย และผู้ประกอบการที่ใช้แรงงานต่างด้าว โดยการออกกฎหมายลักษณะเช่นนี้ไม่สอดคล้องกับนโยบายส่งเสริมการค้า การลงทุนของไทย และยังสวนทางกับนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษตากด้วย

         นายจ่อ อายุ 25 ปี แรงงานพม่ารายหนึ่งที่กลับไปยังจังหวัดเมียวดี บอกว่า ต้องจ่ายเงินค่านายหน้าวิ่งหางานทำให้ในราคา 3,000 บาท พอไปถึงโรงงานนายจ้างไม่กล้ารับเพราะกลัวถูกจับ จึงกลับไปฝั่งพม่าเพื่อกลับบ้าน แต่ที่สำคัญไม่มีค่าใช้จ่ายในการเดินทาง เงินหมดเพราะจ่ายให้นายหน้าไปหมดแล้ว

ชายแดนแม่สอดระส่ำ ลอยแพคนงานพม่าเกือบ 500 คน หวั่นผิดกฎหมาย

         ล่าสุดกระทรวงแรงงานกำลังหามาตรการที่ใช้ผ่อนปรนให้ใช้แรงงานต่างด้าวเป็นการชั่วคราวใน 3 กลุ่มแรงงานต่างด้าว คือ กลุ่มแรงงานที่ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม SME กลุ่มแรงงานก่อสร้าง และกลุ่มคนรับใช้ในบ้านและครัวเรือน โดยมีมาตรการชั่วคราวในการผ่อนผัน คือ
1. สามารถเปลี่ยนชื่อนายจ้างใหม่ได้ หากชื่อแรงงานไม่ตรงกับนายจ้าง
2. ขยายการทำ MOU คือขยายระยะเวลาของการขออนุญาตทำงาน
3. ไทยจะออกวีซ่าให้แรงงานที่มีพาสปอร์ตสามารถทำงานได้ชั่วคราว

         โดยมาตรการผ่อนผันนั้นนายกรัฐมนตรีมอบหมายให้ นายวรานนท์ ปิติวรรณ อธิบดีกรมจัดหางาน เร่งไปศึกษาแนวทางแล้ว

 

ขอขอบคุณข้อมูลและรูปภาพ  :  http://www.manager.co.th/Local/ViewNews.aspx?NewsID=9600000066699