ข่าวไอที : ‘จีน’ กำลังทำงานผลักดัน 6 จี กันแล้ว ถึงแม้ 5 จีเชิงพาณิชย์ยังไม่ทันเดินหน้าเต็มที่
วิศวกร-โรงงานผู้ผลิต‘จีน’ กำลังทำงานผลักดัน 6 จี กันแล้ว ถึงแม้ 5 จีเชิงพาณิชย์ยังไม่ทันเดินหน้าเต็มที่
(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)
Chinese engineers, policymakers already working on 6G push
By Frank Chen
07/01/2019
ถึงแม้เครือข่ายสื่อสารไร้สายเจเนอเรชั่นที่ 5 (5 จี) เชิงพาณิชย์ ยังไม่ทันมีชีวิตขึ้นมาอย่างเป็นทางการด้วยซ้ำ แต่ทั้งวิศวกร, โรงงานผลิต, ตลอดจนผู้กำหนดโยบายของจีน ต่างก็กำลังทำงานเดินหน้าในเรื่อง 6 จีกันแล้ว
ขณะโลกตะวันตกอยู่ในอาการกลัดกลุ้มเป็นทุกข์เรียบร้อยแล้ว เมื่อทิศทางอนาคตบ่งชี้ชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ ว่าจีนกำลังกลายเป็นผู้ฉวยคว้าพวกเทคโนโลยี 5 จี และซัปพลายอุปกรณ์สถานีฐานในระดับทั่วโลกเอาไว้ในอุ้งมือ บรรดาวิศวกรและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหลายของจีนก็กำลังวางแผนการพรักพร้อมแล้วสำหรับรุกต่อในเครือข่ายสื่อสารเจเนอเรชั่นรุ่นถัดไปอีก
พวกวิศวกรและเหล่าบริษัทด้านไอทีในจีนต่างกำลังขยายเพิ่มพูนการวิจัยและความพยายามต่างๆ ทางด้านเงินทุน โดยมีจุดมุ่งหมายอยู่ที่ “เดอะ บิ๊ก ธิง” รุ่นต่อไปภายหลังจาก 5 จี เมื่อการถ่ายทอดข้อมูลไร้สายในอนาคตจะกระทำกันด้วยอัตราเร็วซึ่งสูงลิบลิ่วชนิดที่ในอดีตไม่เคยรู้กันว่ากระทำได้
พวกมหาวิทยาลัยและสถาบันเทคโนโลยีในจีนได้เดินหน้าเข้าจับกลุ่มรวมตัวกันเป็นหุ้นส่วนเป็นกลุ่มพันธมิตรต่างๆ เรียบร้อยแล้ว เพื่อนำเอาผู้มีความรู้ความสามารถและทรัพยากรทั้งหลายมารวมกัน สำหรับการพัฒนาเทคโนโลยีรุ่น 6 จี ที่จะเป็นการผลักดันพรมแดนแห่งความรู้ให้ขยับขยายกว้างไกลยิ่งขึ้น และทั้งหมดเหล่านี้บังเกิดขึ้นทั้งที่เครือข่าย 5 จีเพื่อการพาณิชย์ยังไม่ทันที่จะมีชีวิตขึ้นมาอย่างจริงจังเลยด้วยซ้ำ
เหยา เสี่ยวหู (You Xiaohu) ผู้อำนวยการของสำนักปฏิบัติการวิจัยสื่อสารโทรคมนาคมเคลื่อนที่แห่งชาติ (National Mobile Communications Research Lab) ซึ่งตั้งอยู่ที่มหาวิทยาลัยภาคตะวันออกเฉียงใต้ (Southeast University) ในนครหนานจิง (นานกิง) มณฑลเจียงซู บอกกับสำนักข่าวซินหวา ซึ่งเป็นสำนักข่าวของทางการแดนมังกรว่า ก่อนจะถึงปี 2030 พวกเทคโนโลยีของระบบสื่อสารไร้สายเจเนอเรชั่นที่ 6 จะสามารถเริ่มต้นเปลี่ยนแปลงผ่องถ่ายวิถีชีวิตประจำวันของยูสเซอร์อินเทอร์เน็ตและสมาร์ตโฟนชาวจีน ถึงแม้ในตอนนั้นอาจจะยังมีบางพื้นที่บางภาคส่วนของโลก ยังไม่ทันมีบริการ 5 จี ไปเปิดให้บริการกันอย่างเต็มรูปแบบ
ตั้งแต่ปี 2015 เป็นต้นมา จีนก็ได้ใช้จ่ายมากกว่าสหรัฐฯถึงประมาณ 24,000 ล้านดอลลาร์ในเรื่องโครงสร้างพื้นฐานทางการสื่อสารโทรคมนาคมไร้สาย (โดยที่ยังมีจำนวนอีก 400,000 ล้านดอลลาร์รออยู่ให้ใช้ได้เพิ่มเติมต่อไปอีก) ประเทศยักษ์ใหญ่แห่งเอเชียรายนี้ได้จัดสร้างเครือข่ายอันใหญ่โตมหึมาระดับชาติเสร็จแล้วโดยมีที่ตั้งเสารับส่งสัญญาณโทรศัพท์มือถือแห่งใหม่ๆ เป็นจำนวน 350,000 แห่ง เมื่อเปรียบเทียบกันแล้ว สหรัฐฯมีจำนวนน้อยกว่ามาก โดยยังมีไม่ถึง 30,000 แห่ง
คาดหมายกันว่าจีนจะตบเข้าเกียร์สูงสำหรับการพัฒนาเชิงคอนเซ็ปของตนตลอดจนการทดลองต่างๆ ในเรื่อง 6 จี ได้อย่างว่องไวยิ่ง โดยที่เร็วที่สุดน่าจะเป็นในปี 2020 ทีเดียว ซึ่งความเคลื่อนไหวเหล่านี้เป็นความพยายามที่จะกำหนดจัดวางรายละเอียดนโยบาย ตลอดจนกำหนดจัดวางคำนิยามจำกัดความและมาตรฐานต่างๆ ของตนเองขึ้นมา ทั้งนี้ตามรายงานข่าวของซินหวา ซึ่งอ้างอิงคำบอกเล่าของพวกแหล่งข่าวที่มีความใกล้ชิดกับกลุ่มทำงาน 5 จี กลุ่มหนึ่ง โดนเป็นกลุ่มทำงานที่อยู่ภายใต้การดูแลของกระทรวงอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีสารสนเทศ (Ministry of Industry and Information Technology) ของจีน
ในปัจจุบันกลุ่มทำงานนี้กำลังมองหาพิจารณาพวกแอปพลิเคชั่นที่มีศักยภาพในเรื่อง 6 จี ก่อนที่จะดำเนินการลงทุนอย่างทุ่มเทในเทคโนโลยีใหม่ๆ พูดกันโดยสาระสำคัญแล้ว พวกผู้เชี่ยวชาญกำลังประเมินกันว่าพวกเขาจำเป็นที่จะต้องโฟกัสเน้นหนักในเรื่องอะไรบ้าง สำหรับทำให้ 5 จี ซึ่งกำลังใกล้จะนำออกมาใช้งานกันเต็มทีแล้ว เกิดการกระจายแผ่กว้างไปทั่วประเทศจีนเริ่มตั้งแต่ปี 2019 เป็นต้นไป และแอปพลิเคชั่นอะไรบ้างซึ่งแทนที่จะผลักดันให้อยู่ใน 5 จี กลับควรผลักดันให้ไปอยู่ในไทม์ไลน์ของ 6 จี
นอกเหนือจากการขยายพื้นที่ครอบคลุมให้รวมไปถึงอาณาบริเวณในระดับความสูงเพิ่มมากขึ้นกว่าเดิมแล้ว 6 จียังจะเสนอความเหลวตัวหรือความสามารถในการไหล (fluidity) อย่างชนิดไร้เทียมทาน และอัตราเร็วของการรับส่งสัญญาณซึ่งเร็วสูงยิ่งระดับอุลตราฟาสต์ (ultra-fast) โดยที่จะรวดเร็วกว่า 5 จี 10 เท่าตัว (ขณะที่ 5 จีเองก็มีศักยภาพที่จะรับส่งข้อมูล 1 กิกะบิตต่อวินาที 1Gbit per second อยู่แล้ว) นี่จะทำให้สามารถดาวโหลดภาพยนตร์ระดับ 4K ได้ในชั่วกระพริบตา และจะเปิดยุคใหม่สำหรับความสามารถในการทำงานร่วมกัน (interoperability) และสำหรับแอปพลิเคชั่นเวอร์ชวลเรียลลิตี้ (virtual reality applications) ซึ่งได้พลังจากอัตราเร็วของการรับส่งสัญญาณแบบ spiraling (spiraling transmission speeds)
พวกเทคโนโลยี 6 จี ซึ่งกำลังอยู่ระหว่างการพัฒนา ยังจะให้ความกว้างแถบความถี่ หรือ แบนด์วิดท์ (bandwidth) ในระดับที่ไม่เคยพบเห็นกันมาก่อน เพื่อรับมือแก้ไขจุดซึ่งค่อนข้างเป็นจุดอ่อนข้อบกพร่องของ 5 จี ทั้งนี้ตามรายงานของสื่อจีน
พวกบุคคลวงในนั้นคิดว่า เป็นเรื่องธรรมดาอยู่แล้วที่อุตสาหกรรมแวดวงนี้จะต้องเริ่มต้นการวิจัยและพัฒนาสำหรับเทคโนโลยีการสื่อสารโทรคมนาเจเนอเรชั่นถัดไปกันแบบล่วงหน้าไกลๆ เนื่องจากปกติจะต้องใช้เวลาราว 10 ปี (สำหรับเทคโนโลยีเจเนอเรชั่นหนึ่งๆ) ในกระบวนการออกจากห้องแล็ปทดสอบไปสู่การใช้งานเชิงพาณิชย์
แต่ก็มีบางคนบางฝ่ายโต้แย้งเหมือนกันว่า แค่เพียงคอนเซ็ปต์ของ 5 จี ก็ยังอยู่ในสภาพคลุมเครือและโฆษณาป่าวร้องกันจนเกินจริงอยู่แล้ว ยังไม่ต้องพูดถึงเจเนอเรชั่นที่จะติดตามมาหรอก พวกเขายังชี้อีกว่าการที่จะขับดันให้เกิดดีมานด์ความต้องการในอนาคต ทั้งพวกผู้ให้บริการด้านการสื่อสารโทรคมนาคมและพวกโรงงานผู้ผลิตอุปกรณ์ทั้งหลาย ต่างมีความจำเป็นที่จะต้องโปรโมตส่งเสริมมนตร์เสน่ห์เย้ายวนใจในทางเทคนิคของ 6 จี ตั้งแต่ในตอนที่ 5 จีกำลังถูกนำออกมาใช้งาน
ขอขอบคุณข้อมูล-ภาพ โดย MGR Online