จีนวางแผนสร้าง’โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ลอยทะเล’ ตามเป้าเพิ่มสมรรถภาพนิวเคลียร์ 2 เท่า
สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานเมื่อวันที่ 27 มกราคม 2559 นายสวี่ ต๋าเจ๋อ ประธานสำนักงานพลังงานปรมาณูจีนเปิดเผยว่า ประเทศจีนวางแผนเตรียมสร้างโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ลอยทะเล ท่ามกลางเป้าหมายเพิ่มขีดสมรรถภาพทางนิวเคลียร์เป็น 2 เท่าภายในปี 2563
นายสวี่ แถลงถึงโครงการดังกล่าวอีกว่า ทางการเตรียมสร้างโรงไฟฟ้าลอยทะเลโดยผ่านการเตรียมการทางวิทยาศาสตร์อย่างเข้มงวด โดยรัฐบาลจีนทุ่มความสำคัญอย่างมากที่จะสร้างโรงไฟฟ้าในทะเลเพื่อที่ว่าจะสามารถใช้ทรัพยากรทางทะเลได้อย่างเต็มที่ รายงานระบุว่า ประเทศจีนใช้พลังงานนิวเคลียร์ทางทะเลอย่างโจ่งแจ้ง เช่น การใช้พลังงานนิวเคลียร์ในเรือดำน้ำติดอาวุธและเรือบรรทุกเครื่องบิน แต่การใช้พลังงานนิวเคลียร์สำหรับเป้าประสงค์ทางพลเรือนไม่เคยปรากฏมาก่อน แม้จะมีรายงานถึงการดำเนินโครงการสัญชาติรัสเซียชิ้นหนึ่งอยู่
บริษัทนิวเคลียร์แห่งชาติจีน (ซีเอ็นเอ็นซี) และบริษัทพลังงานนิวเคลียร์ไชน่าเจเนรัล (ซีจีเอ็น) จะเป็นผู้ก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ลอยทะเล 2 แห่ง ตามเป้าหมายของรัฐบาลจีนที่ระบุในแผนระยะ 5 ปี ชิ้นที่ 13 สำหรับช่วงปี 2559 – 2563 โดยคาดว่าซีเอ็นเอ็นซีจะเริ่มปฏิบัติการในปี 2562 และตามด้วยซีจีเอ็นในปีถัดไป
บริษัททั้งสองแถลงถึงประโยชน์ของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ลอยทะเลว่า สามารถสร้างพลังงานส่งถึงแท่นเจาะน้ำมันและก๊าซธรรมชาตินอกชายฝั่ง เสริมสร้างการพัฒนาเกาะและพื้นที่ห่างไกลหลายแห่ง
ข้อมูลของประธานสำนักงานพลังงานปรมาณูจีนระบุว่า ปัจจุบัน ประเทศจีนมีโรงปฏิกรณ์นิวเคลียร์ที่เปิดใช้งาน 30 แห่ง สามารถผลิตไฟฟ้า 28.3 กิกะวัตต์ และอยู่ระหว่างเตรียมสร้างโรงปฏิกรณ์เพิ่ม 24 แห่ง เพื่อผลิตไฟฟ้า 26.7 กิกะวัตต์ ซึ่งรัฐบาลตั้งเป้าเพิ่มสมรรถภาพพลังงานนิวเคลียร์ให้สูงถึง 58 กิกะวัตต์ภายในปี 2563
เมื่อเดือนมีนาคม 2554 รัฐบาลจีนระงับแผนสร้างโรงไฟฟ้าแห่งใหม่หลังโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในเมืองฟุกุชิมะ ประเทศญี่ปุ่น ประสบภัยพิบัติสึนามิและแผ่นดินไหว ภายหลังในปี 2555 จีนตัดสินใจเดินหน้าโครงการอีกครั้ง แม้กระทรวงสิ่งแวดล้อมจะเตือนว่าสถานการณ์ความปลอดภัยด้านนิวเคลียร์ของประเทศไม่สู้ดีนัก
นายสวี่ยังกล่าวอีกว่า ในปี 2558 รัฐบาลจีนอนุมัติโครงการสร้างโรงปฏิกรณ์นิวเคลียร์อีก 8 แห่ง และคาดว่าประเทศกำลังเดินหน้าสู่การบรรลุเป้าหมายปี 2563 สถานการณ์ทางทะเลของรัฐบาลจีนอยู่ภายใต้สภาวะขัดแย้งกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างประเทศญี่ปุ่น และประเทศฟิลิปปินส์ จากปัญหาพื้นที่พิพาททะเลจีนใต้และทะเลจีนตะวันออก รวมถึงการสร้างเกาะเทียมในพื้นที่ดังกล่าวที่ยิ่งกระตุ้นความตึงเครียดในภูมิภาค
ขอขอบคุณข้อมูลและรูปภาพ : มติชน