กรรมาธิการ ที่ดินและเอกสารสิทธิลงพื้นที่แม่สอด
กรรมาธิการ ที่ดินและเอกสารสิทธิลงพื้นที่แม่สอด – สส.ปากะญอ ระบุชาวกะเหรี่ยงอยู่ในป่ามาตั้งแต่บรรพบุรุษ คนรุกป่าหรือป่ารุกคน เราทำไร่-สวน แบบเกษตรนิเวศน์
เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2563 นายสมเกียรติ ศรลัมพ์ ที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหาที่ดินและการออกเอกสารสิทธิในที่ดิน สภาผู้แทนราษฎร(สส.) นำคณะกรรมาธิการฯและคณะที่ปรึกษากรรมาธิการ เช่นนายมานพ คีรีภูวดล สส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล (สส.ตัวแทนกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยง-ปากะญอ)- นายภาคภูมิ บูลย์ประมุข สส.ตาก เขต 3 พรรคพลังประชารัฐ- ฯลฯ เดินทางลงพื้นที่ร่วมประชุม กับหน่วยงานภาครัฐ-ภาคเอกชน- และประชาชนในพื้นที่ ชายแดนไทย-เมียนมา อ.แม่สอด จ.ตาก โดยมีนายสมชัย กิจเจริญรุ่งโรจน์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดตาก- นายชัยพฤกติ์ เชียรธานรักษ์ นายอำเภอแม่สอด- นายเทอดเกียรติ ชินสรนันท์ นายกเทศมนตรีนครแม่สอด จังหวัดตาก และส่วนราชการ ภาคเอกชน ให้การต้อนรับและร่วมประชุมให้ข้อมูล ที่ห้องประชุมเพชรน้ำหนึ่ง ชั้น 6 อาคารสำนักงานเทศบาลนครแม่สอด( หลังใหม่) อ.แม่สอด โดยมีผู้เข้าร่วมประชุม กว่า 100 คน รวมทั้งชาวบ้านและชาวกะเหรี่ยง(ปากะญอ) มาร่วมรับฟัง และยื่นหนังสือให้คณะกรรมาธิการเพื่อให้รับทราบถึงปัญหาและความเดือดร้อนในเรื่องที่ดิน จำนวนมาก และทางนายเทอดเกียรติ ชินสรนันท์ นายกเทศมนตรีนครแม่สอด ยังได้ยื่นหนังสือต่อคณะกรรมาธิการฯ เพื่อขอรับการสนับสนุนและผลักดันการยกฐานะเทศบาลนครแม่สอด เป็นท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ และในส่วนของชาวปากะญอ นับ 100 คน ก็ได้ยื่นขอให้คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหาที่ดินและการออกเอกสารสิทธิในที่ดิน สภาผู้แทนราษฎร(สส.) เร่งแก้ไขปัญหา ในเรื่องของการใช้ที่ดิน และการเข้าไปพัฒนา ในส่วนของพื้นที่ที่ถูกจำกัด สิทธิในที่ดิน
นายมานพ คีรีภูวดล สส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล (สส.ตัวแทนกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยง-ปากะญอ) ในฐานะโฆษก คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหาที่ดินและการออกเอกสารสิทธิในที่ดิน กล่าวว่า ได้เดินทางลงพื้นที่เพื่อมารับทราบข้อมูล และปัญหาในที่ดินของประชาชน ซึ่งในวันนี้มีกลุ่มชาติพันธุ์ชาวกะเหรี่ยง มายื่นหนังสือให้คณะกรรมาธิการฯ เพื่อขอให้ดูแล และนำข้อมูลที่แท้จริงของชาวปากะญอ และประชาชนคนไทยในพื้นที่ จังหวัดตาก จังหวัดแม่ฮ่องสอน นำไปศึกษาเร่งรัดสู่การแก้ไข เพราะเป็นปัญหาที่เรื้อรังมายาวนาน ชาวบ้านขาดโอกาสในการพัฒนาพื้นที่ ขาดสิ่งที่จะได้รับที่จะเข้าพื้นที่ทั้งถนน ไฟฟ้า และการสื่อสาร
“ชาวกะเหรี่ยงและกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ มีชีวิตอยู่กับป่ามาตั้งแต่บรรพบุรุษในที่ดินของ ปู่ย่า ตายาย ซึ่ง เกิดมาก็ทำกินอยู่ในที่ดินของครอบครัว แต่ก็มาถูกกล่าวหาว่ารุกป่า รุกที่ดิน ผมอยากทราบว่า คนรุกป่าหรือป่ารุกคน ทุกวันนี้ชาวบ้านปากะญอ ได้ทำกิน ทำการเกษตร ในที่ดินขอวงตนเองแบบ ไร่หมุนเวียน และเกษตรนิเวศน์ ทำการเกษตรแบบรักษาธรรมชาติ จึงอยากให้รัฐบาลเข้าใจถึงปัญหาและข้อเท็จจริงตรงนี้ ด้วย เพื่อแก้ไขปัญหา ความเดือดร้อนและผลกระทบอื่นๆ ของชาวบ้าน” นายมานพ คีรีภูวดล สส.ตัวแทนกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยง-ปากะญอ กล่าว
ขอขอบคุณข้อมูล-ภาพ จาก AEC อาเซียน News